กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 5.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig Count) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 674 แท่น เพิ่มต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 456.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง ทั้งนี้อัตราการกลั่นลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.0% มาอยู่ที่ 95.1% เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน Whiting (กำลังการกลั่น 414,000 บาร์เรลต่อวัน) ในรัฐ Indiana ของบริษัท BP ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบ Midwest ปิดซ่อมแซม CDU หลัก (240,000 บาร์เรลต่อวัน)
· กระทรวงน้ำมันของโอมานรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและ Condensate ในเดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ยอดส่งออกลดลง จากเดือนก่อน 12.6% มาอยู่ที่ 797,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณทั้งหมดส่งออกไปยังเอเชีย ซึ่ง 70% ส่งออกไปจีน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 14, 884 สัญญา มาอยู่ที่ 89,035 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
· Eurostat รายงานเศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 2/2558 ชะลอตัวอยู่ที่ 0.3 % (ลดลงจากไตรมาสก่อน 0.1%) โดยเศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตเพียง 0.4 %จากไตรมาสก่อน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.5% บ่งชี้ความเปราะบางในภูมิภาค ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า หากกิจกรรมภาคธุรกิจยังไม่ขยายตัว ยูโรโซนจะติดอยู่กับภาวะอัตราการว่างงานและระดับหนี้สินที่สูงต่อไป
· กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานยอดส่งออกในเดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.6% ชะลอตัวจากเดือน มิ.ย. 58 ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.5% โดยยอดส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2% ชะลอตัวจากเดิมที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.9%
· Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐฯ รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค.58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.1% เพิ่มขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน ด้วยแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 50
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงโดย NYMEX WTI ราคาซื้อขายระหว่างวันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 52 จากรายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดวันที่ 21 ส.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน อีกทั้งบริษัท Pioneer ผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ ทำสัญญาซื้อน้ำที่ได้จากการ Recycled จากเมือง Odessa, Texas (ต้นทุนการจัดหาน้ำและขนส่งคิดเป็น 10% ของต้นทุนรวม) เป็นหนึ่งในความพยายามของผู้ผลิตที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะทำให้การผลิต Shale Oil ดำเนินต่อไปได้แม้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบไม่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณอ่อนแรง สร้างความวิตกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และนักลงทุนลดการลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นนำเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นครั้งแรก ในสัดส่วนไม่เกิน 30% ของมูลค่ากองทุนจากเดิมให้ลงทุนด้วยการฝากเงินกับธนาคารหรือซื้อพันธบัตรเท่านั้น นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีเงินลงทุนในตลาดเพิ่มหลายแสนล้านหยวน ขณะที่เกาหลีใต้มีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มขึ้นหลังผู้แทนทางการค้าจากเกาหลีใต้นำโดยรัฐมนตรีการค้า และผู้บริหารของบริษัทรับเหมาด้านพลังงานตกลงเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านจากปัจจุบัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน (ช่วงก่อนการคว่ำบาตรอยู่ที่ระดับ 180,000 บาร์เรลต่อวัน) รวมทั้งยื่นข้อเสนอพัฒนาและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานแก่อิหร่าน อนึ่งให้ติดตามความเคลื่อนไหวของ OPEC ที่ประเทศสมาชิก อาทิ แอลจีเรีย และอิหร่านเรียกร้องให้จัดการประชุมพิเศษก่อนกำหนดการประชุมอย่างเป็นทางการใน วันที่ 4 ธ.ค. นี้ เพื่อหาหนทางให้ราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพ (ข้อบังคับของ OPEC กำหนดให้การเรียกประชุมพิเศษต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศสมาชิก 12 ประเทศ) สัปดาห์นี้คาดว่ากรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ ICE Brent, DUBAI และ NYMEX WTI สัปดาห์นี้อยู่ที่ 44-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 44.15-48.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 39-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดีย เดือน ก.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 5.5 % อยู่ที่ 14.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ขณะที่กรมศุลกากรของเกาหลีใต้รายงานยอดส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 22.4 % อยู่ที่ 7.1 ล้านบาร์เรล และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34.1 % และ Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมัน YASREF (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) กำลังปรับปรุงการผลิตน้ำมันเบนซินให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาภายในเดือน ส.ค. 58 เพื่อให้เป็นตลาด ส่งออกหลัก ทั้งนี้ โรงกลั่น YASREF ผลิตน้ำมันเบนซิน ได้ 90,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในยุโรป บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwarp (ARA)สัปดาห์สิ้นสุด 13 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล หรือ 6.6 % อยู่ที่ 8.9 ล้านบาร์เรล และInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่19 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.19 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.98 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Bukom ของบริษัท Shell (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสิงคโปร์ ปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ปริมาณส่งออกใน 2 เดือนนี้ลดลง และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 15 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล หรือ 1.3 % อยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.65-65.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากสำนักงานสถิติมาเลเซียเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของประเทศ เดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.8% มาอยู่ที่ 7.41 ล้านบาร์เรลโดยปริมาณรวมตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. 58 อยู่ที่ 42.9 ล้านบาร์เรล และ PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ในยุโรป บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด13 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.7 ล้านบาร์เรล หรือ 2.7 % อยู่ที่ 25.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 15ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 0.9 ล้านบาร์เรล หรือ 8.2 % อยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reutersรายงานผู้ค้ามีแรงจูงใจให้ส่งออก Middle Distillates จากตะวันออกกลางไปยังยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเรือขนส่งลดลง และOil Industry Pipeline Co-ordination Secretariat ของเคนยาออกประมูลซื้อ น้ำมันดีเซลชนิด 0.005 %S ปริมาณ 1.6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ ก.ย.-ต.ค. 58 ขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ Heavy Oil Cracking Unit ที่โรงกลั่นShuaiba (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Kuwait National Petroleum Co. (KNPC) เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และโรงกลั่นต้องปิดดำเนินการอย่างไม่มีกำหนด ประกอบกับ IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.26 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.55-57.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล