กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๔ ส.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๒๔/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีชายอายุ ๒๕ ปี แรงงานชาวลาวหลบหนีออกมาจากฟาร์มเลี้ยงไก่และหมูแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม พร้อมเพื่อนอีก ๑ คน เข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับใช้แรงงานโดยผิดกฎหมายภายในฟาร์ม ถูกบังคับให้ทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง หากไม่ทำตามคำสั่งจะถูกทำร้ายร่างกาย โดยทั้งหมดถูกกักขังไว้ในห้องพักมีลูกกรงเหล็กล้อมรอบ ไม่มีห้องน้ำให้ใช้ ไม่อนุญาตให้ออกไปไหน โดยมีการกักขังเพื่อนแรงงานชาวลาวอีกกว่า ๑๐ คนอยู่ในฟาร์ม ทั้งหมดไม่มีการได้รับค่าจ้างใดๆ ขณะนี้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม (พมจ.นครปฐม) และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวงฯ แล้ว พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งสิ้น ๑๓ คน เป็นชาย ๑๒ คน และหญิง ๑ คน อายุระหว่าง ๑๕-๑๘ ปี จำนวน ๙ คน และอายุระหว่าง ๑๙-๒๙ ปี จำนวน ๔ คน ทั้งนี้ ได้มีการประสานขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม เรื่องค่าแรงค้างจ่ายจากนายจ้างแก่ผู้เสียหาย จำนวน ๑๓ คน โดยให้ผู้เสียหายฯ ๑๑ คนๆละ ๗,๘๐๐ บาท และอีก ๒ คนๆละ ๕,๙๐๐ บาท และเจ้าหน้าที่ฯ จะดำเนินการช่วยเหลือค่าจ้างส่วนต่างเพิ่มเติมให้ ขณะนี้ผู้เสียหายฯ ทั้ง ๑๓ คน ได้เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่สถานคุ้มครอง สวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังเตรียมประสานไปยังประเทศ ต้นทางเพื่อส่งผู้เสียหายฯ กลับภูมิลำเนา หลังจากการดำเนินคดีเสร็จสิ้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีเด็กชายอายุ ๑๒ ปี รับภาระเลี้ยงดูปู่อายุ ๖๐ ปี ที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องหยุดเรียนบ่อยครั้งเพื่อมาดูแล ทั้งที่เป็นเด็กเรียนดี อาศัยอยู่กันตามลำพัง ในเพิงไม้สภาพเก่าทรุดโทรม ที่จังหวัดปทุมธานี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี (พมจ.ปทุมธานี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของชายชราอย่างต่อเนื่อง และดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กชาย ในระยะยาวต่อไป
“สำหรับการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ครั้งที่ ๕ ตั้งแต่วันที่ ๑๗-๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ พบว่า มีขอทาน ที่เข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน จำนวนทั้งสิ้น ๕๘๗ ราย แบ่งเป็นคนไทย ๔๓๘ ราย และต่างด้าว ๑๔๙ ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด ๓ อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ ๑๐๘ ราย ชลบุรี ๓๗ ราย และสระบุรี ๑๙ ราย” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย