กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--Petchy PR
อาร์เอฟเอส (RFS) อวดโฉมความสำเร็จโครงการจัดอบรมบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์ (Biomedical Engineering Competency Training : BECT®) ครั้งแรกในประเทศไทย หลังจับมือสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute)นำร่องจัดอบรม 3 เดือนแรกกับ 3 หลักสูตร เผยสามารถเสริมทักษะและพัฒนาบุคลากรได้ตรงตามเป้าหมายของการจัดอบรม โดยมีผู้เข้าอบรมและได้ใบประกาศนียบัตรจำนวนกว่า 50 คน มั่นใจสามารถรองรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ระดับสากลในอนาคตได้เป็นอย่างดี
นายเฉลิมพล สืบแสงอินทร์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมชีวการแพทย์ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด บริษัทในเครือมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจัดตั้งและถือหุ้นโดยคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล (Hospital Facilities Management)ผู้บุกเบิกการจัดการอบรมบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์(Biomedical Engineering Competency Training : BECT®)ครั้งแรกในประเทศไทย กล่าวว่าหลังจากร่วมกับสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute)ริเริ่มโครงการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในปี 2557 โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มทักษะเสริมศักยภาพให้กับช่างเครื่องมือแพทย์ไทยทั่วประเทศ มาถึงวันนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 หลักสูตร ซึ่งเป็นโอกาสที่นอกจากจะหนุนให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะและสามารถนำความรู้ไปต่อยอดให้เกิดศักยภาพในการประกอบอาชีพแล้ว ยังช่วยยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการก้าวสู่ระดับสากลจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอีกด้วย
“การจัดอบรมตลอดระยะเวลา3 เดือนที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างดี โดยมีกระแสตอบรับทั้งบุคลากรด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ และหัวหน้าหน่วยเครื่องมือแพทย์ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมโดยการอบรมแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตร ME1 เครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเครื่องวัดความดันโลหิต, หลักสูตรME2ตู้อบเด็กทารกแรกเกิดและเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า และหลักสูตร TM การบริหารจัดการเทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งบรรยากาศในการอบรมเปิดโอกาสให้ผู้อบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและใช้อุปกรณ์จริงพร้อมเจาะลึกถึงเทคนิคการแก้ปัญหาและใช้งานอุปกรณ์แบบเชิงลึกชนิดตัวต่อตัว เพื่อให้ผู้อบรมมีความเข้าใจและสามารถนำความรู้กลับมาปฏิบัติในการทำงานได้จริง”
ทั้งนี้ ประเมินผลสำเร็จได้จากเสียงสะท้อนผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 3 หลักสูตรหลังเข้าร่วมโครงการอบรมกับอาร์เอฟเอสโดยนายสุพจน์ ทองจันทร์ หัวหน้าหน่วยด้านแก๊สทางการแพทย์ ฝ่ายวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ กล่าวว่า โครงการอบรมบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์มีส่วนช่วยเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ทั้งในด้านการทำงานของตัวเครื่อง การตรวจเช็คแบบเชิงลึก และเทรนด์ของอุปกรณ์ในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เขาสามารถให้คำแนะนำปรึกษากับลูกทีมได้อย่างมีสิทธิภาพ ทั้งยังต่อยอดเสริมความเชื่อมั่นให้กับทีมแพทย์และพยาบาลได้มากขึ้นด้วย
“ตอนนี้ผมสามารถสาธิตและแนะนำอุปกรณ์กับทีมแพทย์ได้ทันทีจากเดิมที่ต้องเรียกตัวแทนบริษัทเครื่องมือแพทย์เข้ามาแนะนำเครื่องมือกับทีมแพทย์และพยาบาล อีกทั้งใบประกาศนียบัตรที่ได้รับจากสถาบันอีซีอาร์ไอซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลยังเป็นเหมือนใบการันตีเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทีมแพทย์มากขึ้น และสามารถต่อยอดการทำงานในระดับสากลในอนาคตได้อีกด้วย”
ด้าน น.ส.อมรา อยู่ทน หัวหน้าวิศวกรชีวการแพทย์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงพยาบาลมีการแข่งขันรุนแรง ยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ความต้องการบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์และมาตรฐานด้านต่างๆ จะมีมากขึ้นส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเร่งเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตซึ่งหลังจากเล็งเห็นโอกาสดังกล่าวและเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร ME 2 ทำให้ตอนนี้นอกจากความรู้ที่เพิ่มขึ้น ยังสามารถต่อยอดนำเอาความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับลูกทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ขณะที่ นาวาอากาศโทภิญโญ ขำแก้ว หัวหน้าแผนกวิศวกรรมโรงพยาบาล กองบริการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันปัญหาสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์โดยเชื่อว่าการจัดอบรมในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้บุคลากรด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ของไทยเกิดความกระตือรือร้นและมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้มากขึ้น
“ในส่วนของโรงพยาบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับมาตรฐานเครื่องมือแพทย์มาอย่างต่อเนื่องเพราะทุกอย่างเป็นการทำงานเกี่ยวกับคนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงศึกษาหาความรู้ด้านนี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนด้านความปลอดภัยและระบบการจัดการซ่อมบำรุงเครื่องมือกระทั่งทราบข่าวว่าสถาบันอีซีอาร์ไอซึ่งเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์ร่วมกับอาร์เอฟเอสจัดการฝึกอบรมในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จึงสนใจและตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อเสริมองค์ความรู้ที่ถูกต้องและมีมาตรฐานระดับสากลยิ่งขึ้นอีกทั้งยังสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโรงพยาบาลในอนาคตอีกด้วย โดยสิ่งที่โรงพยาบาลจะต้องมุ่งทำต่อจากนี้คือการติดตามและเรียกดูข้อมูลเครื่องมือ (Recall and Alert) ซึ่งจะช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น”
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านเครื่องมือแพทย์ สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัดโทร. 02-688-6508หรือ www.rfs.co.thและสามารถติดตามภาพบรรยากาศการอบรมได้จากเฟสบุ๊คของบริษัท www.facebook.com/rfs.co.th