กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยหรือทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ของกรมสุขภาพจิต ร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ ดูแลจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด ณ สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยทีม MCATT รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ประสานการดูแลเยียวยาจิตใจกับทีม MCATT รพ.เซกา และ สสอ.เซกา ทีม MCATT จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับ ทีมเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ และศูนย์บริการสาธารณสุข 8 บางนา ทีม MCATT รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ ร่วมกับ ทีม MCATT รพ.เชียงคาน และ สสอ.เชียงคาน ทีม MCATT สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ร่วมกับ ทีม MCATT รพ.สวนผึ้ง และสสอ.สวนผึ้ง ติดตามดูแลเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตชาวไทยถึงภูมิลำเนาแล้ว 5 ครอบครัว ล่าสุด จากการรายงานสรุปผลการดำเนินงานเยียวยาจิตใจ พบ กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ญาติผู้เสียชีวิต และกลุ่มเสี่ยงพิเศษ คือ ลูกของผู้เสียชีวิต อาจมีภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียคนที่รักเฉียบพลัน (Grief Reaction) รวมทั้งมี ผู้อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดพร้อมกับผู้เสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเครียดจากเหตุสะเทือนขวัญ Post-traumatic stress disorder (PTSD) ได้ ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมทั้งญาติผู้บาดเจ็บ ทีม MCATT ของโรงพยาบาลจิตเวช ได้ดำเนินการเยียวยา ได้แก่ การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ พร้อมพูดคุยให้คำปรึกษาและสนับสนุนกำลังใจ แก่ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา รวมทั้งวางแผนการติดตามต่อเนื่อง
สำหรับ หลายๆ คนที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ปฏิกิริยาทางจิตใจที่พบ มีทั้ง ช็อคทางจิตใจ เงียบเฉย งง ขาดการตอบสนอง สับสน อารมณ์เฉยชาไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม ซึ่งจะพบในช่วงแรกๆหลังประสบภัยใหม่ๆ รวมทั้ง ตกใจและหวาดกลัว จากเหตุการณ์นั้น วิตกกังวลง่าย กังวลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ผวาตกใจง่าย คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆเหมือนตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น และตกใจเมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น ได้ยินเสียงดัง เสียงน้ำหยด เสียงคน ร้องตะโกนดังๆ เห็นดอกไม้ เห็นศาลเจ้า นอนฝันร้าย และตกใจกลัว ตลอดจน หลีกเลี่ยง ที่จะนึกถึงสถานที่หรือการกลับเข้าไปในสถานที่เก่า ทั้งนี้ อาการดังกล่าวถือเป็นปฏิกิริยาปกติที่จะเกิดได้ในช่วงแรกๆ ซึ่งมักจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้เอง แต่ถ้าหลัง 4 สัปดาห์แล้วยังมีอาการเหล่านี้อยู่ อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเครียดสะเทือนขวัญหรือ Post-traumatic stress disorder (PTSD) ได้ สิ่งสำคัญ จึงอยู่ที่การติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาล เพราะตอนอยู่โรงพยาบาลจะมีคนมาเยี่ยมเป็นจำนวนมากมาก แต่พอกลับบ้านไปแล้วอาจจะไม่มีคนไปดูแลเลยซึ่งจะเป็นช่วงที่เกิดปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ โรคซึมเศร้าและโรค PTSD ได้ ครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่เผชิญเหตุการณ์หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้ โดยการประคับประคองทางจิตใจไปพร้อมกับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน หรือมีบุคคลใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย หลีกเลี่ยงในการสอบถามรายละเอียดของเหตุการณ์ เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมทางจิตใจได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร กล่าวเสริมว่า กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ คือ เด็ก โดยเฉพาะการดูแลจิตใจเด็กที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปอย่างกะทันหันนั้น แม้เด็กจะไม่เข้าใจความหมายของความตาย แต่เขาจะรับรู้การสูญเสียตั้งแต่วินาทีแรกได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยความเศร้าโศกของเด็ก ควรมีคนคุยกับเขาทุกระยะ ทั้งวิธีการบอกเขาว่า คนที่เขารักเสียชีวิต หรือให้เขามีประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรมในการได้เห็นบิดามารดาที่ตายจากไป เปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมเศร้าโศก หรือ เข้าร่วมพิธีศพด้วย ฯลฯ สำหรับผู้ที่เจอภาวะเด็กเล็กที่ร้องหาพ่อแม่ อาจพูดเป็นเรื่องเป็นราวว่าพ่อแม่มาหาเขา มาเล่นกับเขา สิ่งที่ต้องทำให้เขารับรู้มากที่สุด ก็คือ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนสนใจ ใส่ใจ และคนในครอบครัวก็ยังคิดถึงเขาอยู่ จึงต้องมีผู้ใหญ่สักคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ระหว่างที่เขากำลังปรับตัว เพราะเขาจะยังคุ้นชินกับสิ่งที่พ่อแม่เคยทำให้ในแต่ละวัน ถ้าคนที่เหลืออยู่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เขาก็จะค่อยๆ รับรู้ว่าคนที่เคยทำให้ไม่ใช่พ่อและแม่แล้ว และจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้
สำหรับผู้ที่อยู่ในอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ การให้ความช่วยเหลือจากเพื่อนและญาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สามารถทำได้ โดยการให้เวลาอยู่กับพวกเขา หรือการโอบกอดไหล่เขาเพื่อแสดงออกซึ่งความอาทรและการให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกที่เจ็บปวดและทรมานให้ฟัง อยู่เป็นเพื่อนกับเขาเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าโดดเดี่ยว และต้องให้เวลากับการเศร้าโศก ส่วน ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ อาจปฏิบัติตัว ดังนี้ นอนเป็นเวลา และตื่นให้เป็นเวลา แม้ว่าคืนก่อนหน้านั้นจะไม่หลับ หรือหลับได้น้อยก็ตาม หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ ให้ลุกจากที่นอนและกลับมานอนบนที่นอนเฉพาะเวลาที่ง่วงนอน ก่อนนอนไม่ควรทานอาหารอิ่มจนเกินไป หรือปล่อยให้หิว ไม่ใช้สุรา หรือสารเสพติดเพื่อช่วยให้หลับด้วยตนเอง ปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อพิจารณาหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับและแก้ไขที่สาเหตุ ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชม. รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว