กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
· “เมกเกอร์” คือรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมแห่งนวัตกรรม
· เราทุกคนสามารถเป็น “เมกเกอร์” ได้ ขอเพียงแค่มีความคิดสร้างสรรค์และลงมือสร้างผลงานออกมา
· Bangkok Mini Maker Faire งานแสดงผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ของ “เมกเกอร์” ครั้งแรกในประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสังคมไทย
· เชิญชวนเมกเกอร์ทุกแขนงส่งผลงานเข้ารวมแสดงใน Bangkok Mini Maker Faire
“เมกเกอร์” (maker) เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยยังจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มผู้สนใจเท่านั้น ทั้งๆ ที่ ในหลายประเทศ “เมกเกอร์” และ “ขบวนการเมกเกอร์” (Maker Movement) ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคาดหมายกันว่าเมกเกอร์จะหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตัล และสังคมแห่งนวัตกรรม
ทำความรู้จักกับ “เมกเกอร์”
วัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker Culture) มีรากฐานมาจากวัฒนธรรม DIY (Do It Yourself) ที่ผู้คนชอบประดิษฐ์หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งมีมานานแล้ว ต่อมาเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น อาทิ โปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ฟรี กล้องโดรน หรือเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูกลง จึงเกิดการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์หรือประกอบกับสิ่งประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้รูปแบบของงานประดิษฐ์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นด้วยอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ที่มีความสนใจในการประดิษฐ์สามารถค้นหาและรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งช่วยผลักดันให้ขบวนการเมกเกอร์เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สำหรับในส่วนของ สวทช. ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม ถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดงานนี้ ในส่วนของเมกเกอร์คือ จะเป็นผู้ที่ชอบสร้างสรรค์หรือดัดแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้ดังใจ เมกเกอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิศวกรหรือผู้ที่มีความรู้ในเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้นงานประดิษฐ์ในขบวนการเมกเกอร์จึงมีหลากหลายตั้งแต่งานไฮเทค เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ กล้องโดรน ไปงานที่ใช้พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะ รวมถึงผ้า กระดาษ เซรามิกส์ ไม้ หรือแม้แต่อาหาร ต่างก็รวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ขอเพียงแค่ให้มีความแปลกใหม่และการสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ผิดแปลกจากคนอื่น”
การเป็นเมกเกอร์ไม่ใช่เพียงแค่งานอดิเรก ผลงานของเมกเกอร์สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากแบบเดิมๆ ทำไม่ได้ โดยรายงานเกี่ยวกับผลที่ขบวนการเมกเกอร์มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Maker Media ร่วมกับ Deloitte ระบุว่าในปี 2013 มีสินค้าจากเมกเกอร์ที่ซื้อขายกันในร้านค้ามากกว่า 1 ล้านแห่ง รวมมูลค่าสูงถึง 1,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการผู้ที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเมกเกอร์ที่แข็งแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
คุณกุลประภา กล่าวต่อไปว่า “จุดเด่นของวัฒนธรรมเมกเกอร์ประการหนึ่งคือเรื่องของการแบ่งปันความรู้และการร่วมมือกัน เมกเกอร์จะมีความสุขที่ได้พบเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือกัน ไปจนถึงการสอนผู้ที่สนใจอยากเป็นเมกเกอร์ เมกเกอร์แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป การแบ่งปันความรู้ทำให้เมกเกอร์สามารถพัฒนาผลงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่หรือปรับปรุงผลงานอีกด้วย การเกิดขึ้นของ “เมกเกอร์สเปซ” (Maker Space) หรือพื้นที่ทำงานร่วมกันของเมกเกอร์ ตลอดจนการจัดงานต่างๆ เพื่อให้เมกเกอร์ได้มาพบปะกัน อาทิงาน เมกเกอร์ แฟร์ (Maker Faire) ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันนี้ ส่งผลให้สังคมของเมกเกอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว”
คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo เมกเกอร์สเปซชื่อดัง อธิบายถึงนิยามของเมกเกอร์สเปซว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องมือสำหรับทำวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีราคาถูกลง แต่ก็ยังมีราคาสูงเกินกว่าที่เมกเกอร์ทุกคนจะมีไว้ครอบครอง เมกเกอร์สเปซจึงเกิดขึ้นเพื่อให้บริการอุปกรณ์และสถานที่สำหรับเมกเกอร์และผู้สนใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการใช้เครื่องมือไปจนถึงการพัฒนาผลงาน โดยในประเทศไทยมีเมกเกอร์สเปซ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”
“อย่างไรก็ดีหัวใจของเมกเกอร์สเปซไม่ใช่ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ แต่คือ ‘การเป็นพื้นที่ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน’ โดยเมกเกอร์สเปซจะเป็นสถานที่รวมตัวของคนที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญที่หลากหลาย รวมถึงผู้ที่เริ่มต้นที่ยังใช้เครื่องมือไม่เป็น ให้ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลงานขึ้นเป็นธุรกิจผ่านการระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) ได้อีกด้วย”
คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Fab Café ร้านกาแฟและเมกเกอร์สเปซด้านการออกแบบ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน เมกเกอร์สเปซและกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิกิจกรรมให้ความรู้ และเวิร์คชอป ทั้งแก่เมกเกอร์และกลุ่มผู้เริ่มต้นรวมถึงเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรม เมกเกอร์เติบโตอย่างแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยชุมชนเมกเกอร์กำลังร่วมกับเชฟรอนและ สวทช. เพื่อจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้”
Bangkok Mini Maker Faire จุดประกายนักสร้างสรรค์
“เมกเกอร์ แฟร์” หรืองานแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาก่อนที่จะขยายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถึงกับให้จัดงานเมกเกอร์แฟร์ในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมกเกอร์ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จะร่วมกันจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยามสแควร์ ซอย 11 โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ดร. ฉัตรชัย ธนาฤดี ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ว่า “เชฟรอนเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ผลงานของเมกเกอร์มากมายสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เมกเกอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมแห่งนวัตกรรม ซึ่งเป็นยุคที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ใช่การเป็นแหล่งรับจ้างผลิตสินค้าที่มีค่าแรงงานถูกอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ และการเป็นผู้ประกอบการ เราจึงร่วมกับ สวทช. และกลุ่มเมกเกอร์ จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เมกเกอร์จากทั่วประเทศไทยได้แสดงผลงานการสร้างสรรค์ของตน แลกเปลี่ยนความเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจและเป็นเมกเกอร์กันมากขึ้น”
“ในงาน เราจะได้เห็นผลงานและความคิดสร้างสรรค์ของเมกเกอร์กลุ่มต่างๆ ที่มาจากทั่วประเทศ รวมถึงจะมีงานจากต่างประเทศมาจัดแสดงด้วย นอกจากนั้น ทางเชฟรอนประเทศไทยและสวทช. ยังจะร่วมกันประกาศผลการประกวดการออกแบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) จากโครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World อีกด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งโครงการฯ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และได้รับความสนใจมีคนส่งผลงานเข้าประกวดถึง 149 ผลงานด้วยกัน ในวันนั้นเราจะได้ทราบว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และจะได้ไปร่วมงาน Maker Faire Berlin ที่ประเทศเยอรมนี”
คุณหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเสริมว่า “การจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โครงการระยะยาว 5 ปี ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม (STEM) ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว เกิดความสนใจในการศึกษาในสาขาสะเต็ม เพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จลุล่วง”
คุณหทัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า “Bangkok Mini Maker Faire ไม่เพียงจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของเมกเกอร์เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอปและการสัมมนาเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของผู้ที่สนใจในด้านนี้ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เข้าชมงาน เราจึงขอเชิญชวนเยาวชนและบุคคลทั่วไป ตลอดจนผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมาร่วมงานนี้กันมากๆ โดยเชื่อแน่ว่าทุกคนจะได้รับทั้งความสนุก ความรู้ และแรงบันดาลใจกลับไป”
งาน Bangkok Mini Maker Faire เปิดรับผลงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม ดนตรี อาหาร ศิลปะ งานไม้ งานโลหะ งานผ้า การพิมพ์สามมิติ โดรน ระบบสมองกลฝังตัว และอื่นๆ ขอเพียงมีไอเดียไม่ซ้ำใคร และเป็นผลงานที่คิดและทำด้วยตนเอง โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และส่งใบสมัครได้ทางเว็บไซต์ www.bangkokmakerfaire.com ภายในวันที่ 28 สิงหาคม (ปิดรับใบสมัครเวลาเที่ยงคืน) และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 1 กันยายน ทางเว็บไซต์นี้ โดยผู้ผ่านการคัดเลือก จะได้รับพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน ณ งาน Bangkok Mini Maker Faire โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ สาธิตผลงานบนเวทีกลางและลานกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา ร่วมกิจกรรมปาร์ตี้หลังงานเพื่อพบปะกับเมกเกอร์ท่านอื่นๆ เป็นต้น
สามารถดูรายละเอียดและติดตามความคืบหน้าของงาน Bangkok Mini Maker Faire ได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokmakerfaire.com