กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--WWF-ประเทศไทย
WWF (กองทุนสัตว์ป่าโลก) มีความยินดีที่ประเทศไทยตัดสินใจบดและเผาทำลายงาช้างแอฟริกาของกลางผิดกฎหมายที่ยึดมากกว่า 2 ตัน ในวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ที่จะถึงนี้ หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวดไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ
งาช้างดิบและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างแอฟริกาน้ำหนักรวม 1,206 กิโลกรัม ในครอบครองของกรมศุลกากร ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดขนาด และตรวจสอบทะเบียนประวัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใสเป็นที่เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมกับ WWF-ประเทศไทย (กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย) โดยกระบวนการเดียวกันนี้ถูกใช้ในการตรวจสอบงาช้างอีก 950 กิโลกรัม ที่อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ด้วยเช่นกัน
“การทำลายงาช้างของกลางในครั้งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทย ที่จะไม่ยอมให้ผู้ซื้อและผู้ลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายใช้ประเทศไทยของเราเป็นทางผ่านและแหล่งซื้อขายงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไป” นางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตัวแทนจาก WWF ผู้เข้าร่วมการตรวจสอบในครั้งนี้ กล่าว “และการบดทำลายงาช้างของกลางครั้งนี้ ยังเป็นการสะท้อนเจตจำนงค์ของคนไทยกว่า 1.3 ล้านคน ที่ออกมาร่วมแสดงความรักและความห่วงใยต่อช้าง ต่อต้านการฆ่าช้างเอางาและไม่สนับสนุนการค้างาช้าง ผ่านแคมเปญ ช.ช้าง ช่วยช้าง ของ WWF เมื่อต้นปีที่ผ่านมาอีกด้วยการสนับสนุนให้มีกระบวนการตรวจสอบอิสระก่อนทำการบดทำลายงาช้างนั้น ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหางาช้างผิดกฎหมายในประเทศ รวมถึงการยับยั้งการก่ออาชญากรรมสัตว์ป่าในอนาคต”
ในแต่ละปี ช้างแอฟริกากว่า 30,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อลักลอบนำงาเข้ามายังประเทศที่มีตลาดเปิดกว้างและไร้การควบคุมทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี เช่นประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้อาชญากรสัตว์ป่าสามารถฟอกงาช้างผิดกฎหมายปริมาณมหาศาลได้จากช่องโหว่ทางกฎหมายในประเทศเหล่านั้น
ในปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติให้ปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ และด้วยความเสี่ยงในการถูกคว่ำบาตรทางการค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) รัฐบาลจำต้องร่างแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติจนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติงาช้าง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยในปีนี้ ซึ่งมีผลให้มีการแจ้งครอบครองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างของผู้ค้าและผู้บริโภคทุกคน และมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านเท่านั้นอีกด้วย โดยงาช้างน้ำหนักรวมกว่า 220 ตัน ในการครอบครองของประชาชนกว่า 44,000 ราย ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งห้ามมีไว้หรือซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้มาจากช้างแอฟริกาด้วยไม่ว่ากรณีใดๆ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย
“ในปีนี้ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังคงมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ในภายภาคหน้า ทั้งการบังคับใช้ข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ การปราบปรามผู้ค้างาช้างผิดกฎหมาย รวมถึงการลดอุปสงค์ในสินค้าเหล่านั้นด้วย” นางสาวจันทน์ปาย กล่าว
อย่างไรก็ดี WWF เสนอแนะให้มีการดำเนินวิธีการติดตามงาช้างถูกกฎหมายและเหล่าผู้ค้าปลีกในระบบภายใต้กฎหมายใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพที่จะสามารถนำมาใช้ในการควบคุมตลาดการค้างาช้างได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงเรื่องชนิดและลักษณะของใบรับรองการซื้อขายที่จะออกให้กับผู้ซื้อสินค้า และสิ่งสำคัญที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือด้านการบังคับใช้กฎหมายงาช้างฉบับใหม่นี้ ทั้งในเรื่องการตรวจสอบสินค้างาช้างและตลาดค้าปลีกในอนาคต และบทลงโทษสำหรับผู้ค้าโดยไม่มีใบอนุญาตและไม่นำผลิตภัณฑ์มาขึ้นทะเบียนว่าจะเป็นอย่างไร
“ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยแสดงความทุ่มเทในการกำจัดการค้าผิดกฎหมายและปกป้องช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรม ประเพณี และเป็นสัตว์ที่เปรียบเหมือนเอกลักษณ์ประจำชาติมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน” นางสาวจันทน์ปาย กล่าว