กรุงเทพ--1 มิ.ย.--สศช.
นายพายัพ พยอมยนต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "แนวทางการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ พื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน" ขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2541 ณ โรงแรมพรพิงค์ ถนนเจริญประเทศ จังหวัดเชียงใหม่
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ตามที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำย่อย คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 160,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าในระยะที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภคของชุมชนโดยมิได้คำนึกงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาหลายประการ อาทิ การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง การสูบน้ำบาดาลมาใช้จนเกิดแผ่นดินทรุด น้ำท่วมในฤดูฝนและปัญหาการระบายน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดมาแต่ส่วนใหญ่ยังมุ่งในเรื่องแก้ไขปัญหาระยะสั้น ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยส่วนรวมขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า การจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สศช. และสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการดูแลทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากการประชุมมาใช้ประโยชน์ในการประกอบการพิจารณาหารูปแบบและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมไปปรับปรุงกลยุทธ์ในการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเป็นกิจกรรมหลักที่ต้องได้รับการผลักดันให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ทั้งจากส่วนกลางและระดับจังหวัด รวมทั้งผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้นำท้องถิ่น รวมจำนวนประมาณ 100 คน
นายพายัพ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า โครงการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นี้ ธนาคารโลกได้ว่าจ้างบริษัท Binnie & Partners (Overseas) ร่วมกับ W.S. Atkins International, Marco Consultants และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทำการศึกษาเพื่อกำหนดกลยุทธ์การจัดทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งผลการศึกษาประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ในการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การจัดการด้านอุปทาน การจัดการด้านอุปสงค์ การพัฒนาด้านคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำท่วมและการจัดการด้านกฎหมาย และคาดว่าโครงการศึกษาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่การบริหารทรัพยากรน้ำตามหลักการจัดการลุ่มน้ำ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกต่อไป--จบ--