กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
วันนี้ (18 สิงหาคม 2558) ดร.ทัศนีย์ เกริกกุลธร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการเรื่อง โรคติดเชื้อ ภาวะฉุกเฉิน ความท้าท้ายในการดูแล ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค อาจารย์พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และศิษย์เก่าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา จำนวน 500 คน เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้โรคติดเชื้อเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในจำนวนโรคทั้งหมด และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา โรคติดเชื้อพบได้ในทุกวัย การส่งเสริมสุขภาพและการได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ดังนั้น พยาบาล ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการดูแล ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และการเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเกิดจากการบกพร่องจากการทำงานของอวัยวะสำคัญจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หากผู้ที่ประสบภาวะฉุกเฉินได้รับการดูแลที่เหมาะสมทันท่วงทีจะช่วยลดอันตราย การบาดเจ็บและการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันภาวะฉุกเฉินภายใต้การตัดสินใจที่รวดเร็วจะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะฉุกเฉินปลอดภัยมากที่สุด
ดร.ทัศนีย์ เกริกกุลธร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเรามีการดูแลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น โรควัณโรค โรคไข้เลือดออก โรคแบบนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ได้เฝ้าระวังมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่ามีการเคลื่อนย้ายของประชากร จากอาเซียนเข้ามาในบ้านเรา ในส่วนนี้ทางสาธารณสุขมีการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเฝ้าระวังตนเอง ในแง่ของการป้องกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม โรคใหม่หรือโรคเก่า จะมีหลักการง่ายๆ ก็คือ กินร้อนช้อนกลาง และล้างมือ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ สำหรับท่านที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โอกาสติดเชื้อมีสูง เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าตนเอง ภูมิต้านทานน้อย การไปที่สาธารณะที่มีคนเยอะ ต้องพิจารณาว่าควรหลีกเลี่ยง หรือหากมีความจำเป็นต้องไปควรมีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคตามความเหมาะสมที่จะช่วยเหลือตนเองได้
สำหรับการประชุมวิชาครั้งนี้ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา นั้น ได้ส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรทางด้านสุขภาพและศิษย์เก่าให้เป็นผู้ที่มีความรู้ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนได้ และเข้าใจในวิทยาการใหม่ด้านการพยาบาลเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป