กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับนิด้าโพล จัดทำโพลเรื่อง “SMEs กับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้เศรษฐกิจ ปี 2558” โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และขนาดกลาง กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เน้นการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้เศรษฐกิจ ปี 2558 รวมถึงปัญหา/อุปสรรคในการเข้าถึงการขอสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน ปัญหาด้านการตลาด อุปสรรคในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต และปัญหาจากนโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐ เป็นต้น โดยผลการสำรวจที่ได้จะเป็นข้อมูลประกอบให้กับสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างมีศักยภาพต่อไป” นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ทั่วประเทศ กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,054 ตัวอย่าง เกี่ยวกับ SMEs กับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้เศรษฐกิจ ปี 2558 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
ความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ในการยื่นขอสินเชื่อ/แหล่งเงินทุน ในรอบปีที่ผ่าน เพื่อดำเนินธุรกิจ/กิจการของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.71 ระบุว่า ไม่มีการยื่นขอสินเชื่อ/แหล่งเงินทุน ขณะที่ ร้อยละ 24.29 ระบุว่า มีการยื่นขอสินเชื่อ/แหล่งเงินทุน
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ในกรณีระดับปัญหา/อุปสรรคโดยรวมจากการยื่นขอสินเชื่อ/แหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.18 ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัตินาน รองลงมา ร้อยละ 30.39 เอกสารประกอบการขอสินเชื่อมีจำนวนมาก ร้อยละ 23.53 ดอกเบี้ยสูง ร้อยละ 14.71 ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ร้อยละ 12.75 งบการเงินไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 11.76 วงเงินค้ำประกันสูงเกินไป ร้อยละ 10.78 ค่าธรรมเนียมในการกู้สูง ร้อยละ 6.86 ติดเครดิตบูโร ร้อยละ 1.96 เพิ่งตั้งบริษัท ไม่มีประวัติการทำธุรกิจ ร้อยละ 1.96 ไม่มีแหล่งสินเชื่อหรือสถาบันทางการเงิน/เข้าถึงได้ยากมาก ร้อยละ 0.98 จำนวนสาขาของสถาบันการเงินของรัฐมีน้อย และร้อยละ 2.94 อื่น ๆ ได้แก่ สถาบันการเงินไม่อนุมัติการปล่อยสินเชื่อ เพราะถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการชำระ อีกทั้งผลประกอบการไม่ดี
สำหรับวงเงินสินเชื่อประมาณการที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการกู้ยืม พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 23.53 ต้องการน้อยกว่า 5 ล้านบาท ร้อยละ 31.37 อยู่ที่ 5 – 10 ล้านบาท ร้อยละ 9.81 ระบุว่า 10 – 15 ล้านบาท ร้อยละ 6.86 ระบุว่า 15 – 30 ล้านบาท ร้อยละ 8.82 ระบุว่า 30 – 50 ล้านบาท และร้อยละ 15.69 ระบุว่า มากกว่า 50 ล้านบาท
อีกทั้ง การประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิตในการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.31 ไม่ประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต และร้อยละ 44.69 ประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งในจำนวนผู้ที่ประสบปัญหา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.03 ต้นทุนการผลิตสูง (ค่าจ้างแรงงาน ราคาวัตถุดิบ ค่าไฟ ราคาเชื้อเพลิง ฯลฯ) รองลงมา ร้อยละ 59.87 ปัญหาบุคลากร/แรงงาน ขาดแคลน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความรู้ ทักษะฝีมือแรงงาน ร้อยละ 18.47 ปัญหาเครื่องจักรเสียบ่อย ร้อยละ 11.25 ปัญหาสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ร้อยละ 6.79 ปัญหาอัตราการสูญเสียสูงไม่สามารถผลิตสินค้าให้สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด และร้อยละ 1.06 อื่นๆ ได้แก่ การผลิตไม่เพียงพอและสินค้าไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า สภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการผลิต และความล่าช้าในการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการประสบปัญหาด้านการตลาดในการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 49.53 ระบุว่า ไม่ประสบปัญหาด้านการตลาด ขณะที่ ร้อยละ 50.47 ประสบปัญหาด้านการตลาด โดยในจำนวนผู้ที่ประสบปัญหานั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.93 เกิดจากความหลากหลายของสินค้าในตลาดที่มีอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าได้ยาก รองลงมา ร้อยละ 24.81 มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด ร้อยละ 20.86 การเข้ามาแข่งขันของสินค้าต่างประเทศ ร้อยละ 13.16 ขาดบุคลากรด้านการตลาด ร้อยละ 6.20 ไม่สามารถหาทำเลที่ตั้งร้านค้าที่ดี ๆ ร้อยละ 4.89 ไม่มีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 2.44 ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน ร้อยละ 0.94 การถูกละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า/การบริการ ร้อยละ 19.55 อื่นๆ ได้แก่ กำลังการซื้อลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ราคาหรือต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง
สำหรับการประสบปัญหา/อุปสรรคในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.12 ไม่มีอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต และร้อยละ18.88 มีอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งในจำนวนผู้ที่มีอุปสรรคนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.23 ขาดแคลนเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ รองลงมา ร้อยละ 36.92 แรงงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาการที่ทันสมัย ร้อยละ 12.69 ขาดความรู้ในการบริหารจัดการวัตถุดิบการควบคุมคุณภาพเทคโนโลยีการผลิต ร้อยละ 4.23 ขาดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยกับภาคเอกชนฯ ร้อยละ 0.77 เรื่องของการจดสิทธิบัตร และร้อยละ 1.51 อื่นๆ ได้แก่ ไม่สามารถหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตได้
สำหรับการประสบปัญหาด้านนโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐในการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการ SMEs พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.18 กฎระเบียบและขั้นตอนการติดต่อประสานงานกับภาครัฐมีความยุ่งยากและซับซ้อน รองลงมา ร้อยละ 35.96 ความไม่ชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ร้อยละ 29.82 ขั้นตอนการจดทะเบียนแจ้งการขอใบรับรองใบอนุญาตต่าง ๆ ยุ่งยากและซับซ้อนและ ใช้เวลานาน ร้อยละ 18.86 นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในบางกรณีไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 12.28 กฎระเบียบของไทยไม่สอดคล้องกับข้อตกลงในเวทีการค้าต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน Halal ร้อยละ 5.26 กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาขึ้นเองในประเทศ และร้อยละ 11.40 อื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ยังไม่มีความชัดเจน การยื่นขอ DMI การยื่นเรื่องภาษีนิติบุคคล ระเบียบข้อบังคับการส่งออกไปยังยูโรโซน
เมื่อถามถึงการประมาณการยอดขายภายในสิ้นปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 20.78 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.55 เท่าเดิม ร้อยละ 45.35 ลดลง และร้อยละ 29.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ประกอบการที่ระบุว่าเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.29 เพิ่มขึ้น 1% – 10% ร้อยละ 22.37 เพิ่มขึ้น 11% – 20% ร้อยละ 13.71 เพิ่มขึ้น 21% ขึ้นไป และร้อยละ 19.63 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับผู้ประกอบการที่ระบุว่าลดลงนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.56 ลดลง 1% – 10% ร้อยละ 24.06 ลดลง 11% – 20% ร้อยละ 28.66 ลดลง 21% ขึ้นไป และร้อยละ 11.72 ไม่แน่ใจ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ SMEs อย่างเร่งด่วน พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาสินค้าราคาแพง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และควรกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น รองลงมารัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุน ต้นทุนการผลิต ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี การส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และควรพิจารณาปรับนโยบายด้านค่าแรงให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการและทักษะฝีมือแรงงาน รวมไปถึงการจัดสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งช่วยเหลือในเรื่องแหล่งเงินทุน / สินเชื่อ จากสถาบันทางการเงินที่มีดอกเบี้ยถูก และให้วงเงินสูง รวมไปถึงเข้ามาดูแลในเรื่องขั้นตอนการขอสินเชื่อและความสามารถในการผ่อนผันชำระ อีกทั้งรัฐบาลควรจัดหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้า การประชาสัมพันธ์ การตลาด กลยุทธ์ในการแข่งขันต่างๆ เนื่องจากมีคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ควรตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ของสินค้า และควรปราบปรามจับกุมอย่างจริงจัง รวมถึงการช่วยเหลือ SMEs ในเรื่องอัตราภาษี ควรคำนึงถึงรายได้ของผู้ประกอบการเป็นหลัก และอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และควรปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทางกฎหมาย กฎระเบียบ ขั้นตอนในการยื่นขอเอกสารต่างๆ และหน่วยงานที่ให้บริการควรเพิ่มความรวดเร็วในการพิจารณาเอกสาร การบริการและการดำเนินการ และสุดท้ายควรปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกลของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจยังคงทรงตัว และเชื่อว่าน่าจะดีขึ้นภายใน เร็ว ๆ นี้...//