BOI FAIR 2000 กับเมนูอาหารสมองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในยุค 2000

ข่าวทั่วไป Wednesday December 15, 1999 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--15 ธ.ค.--BOI
บีโอไอแฟร์ 2000 ครั้งใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เตรียมแผนเสนอเมนูทองอภิมหาสัมมนาเกือบ 200 เรื่อง ให้ผู้เข้าชมงานได้เลือกเปิบตามชอบใจ ยิ่งใหญ่ ได้กุศลไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ที่นี่ที่เดียวศูนย์นิทรรศการ IMPACT เมืองทองธานี จ. นนทบุรี
ความอลังการของงานนิทรรศการ BOI FAIR 2000 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 3-17 กุมภาพันธ์ 2543 มิใช่มีแต่เพียงความยิ่งใหญ่ของพื้นที่จัดแสดง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและภาคเอกชนออกร้าน แสดงศักยภาพ ความแปลก ใหม่ และความหลากหลายของสินค้าอุตสาหกรรม แต่ยังจัดกิจกรรมสัมมนาและกิจกรรมเสริมด้านวิชาการอีกกว่า 200 หัวข้อ และถือเป็นหัวใจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในงานบีโอไอแฟร์ 2000 ที่ท่านไม่ควรพลาด
เนื่องจากการปรับเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจ และการเพิ่งฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงเล็งเห็นความสำคัญของการให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของการผลิตและการส่งออกรวมถึงโอกาสและลู่ทางการลงทุนและการค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดให้มีกิจกรรมสัมมนาและกิจกรรมเสริมด้านวิชาการกว่า 200 สัมมนา ซึ่งถือว่าเป็นอภิมหาสัมมนาต้อนรับสหัสวรรษใหม่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถเข้าชมได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า "อภิมหาสัมมนา" หมายถึง จำนวนมากมายของการสัมมนา แต่จริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่จำนวนเท่านั้นที่ถือว่าเป็นอภิมหาสัมมนา แต่สัมมนาในบีโอไอแฟร์ 2000 ยังรวมถึงเนื้อหาสาระประโยชน์ที่ท่านจะได้รับกลับไป เรียกได้ว่า "คุณภาพคับแก้ว ปริมาณคับขวด"
วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาเพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในสหัสวรรษหน้าทั้งระบบการทำงานและดำเนินการของภาครัฐและเอกชน แนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ
เมนูงานสัมมนาเกือบ 200 รายการ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ประเภทอุตสาหกรรม ประเภทสร้างสรรค์ และ ประเภทเฉพาะกิจ ซึ่งรวมถึง กิจกรรมสัมมนาเฉพาะด้านในพาวิลเลียน เช่น การสัมมนา "ผู้ซื้อพบผู้ขาย" เป็นต้น
ฟังแค่นี้อาจจะเรียกน้ำย่อยท่านผู้อ่านได้ไม่มากนัก ดังนั้นจึงจะขอนำเสนอเมนูสัมมนาเด็ด ๆ ในงาน BOI FAIR 2000 ดังนี้
ประเภทอุตสาหกรรม มีการสัมมนากว่า 100 หัวข้อ แบ่งเป็น 15 ประเภทหลัก คือ
1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งสิ้น 4 หัวข้อ ได้แก่ แนวโน้มและกลยุทธ์ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าในเครื่องใช้ไฟฟ้า และความรู้ด้านไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค ผู้บรรยายที่ให้เกียรติมาให้ความรู้เช่น ดร สมภพ เจริญกุล ประธานกรรมการบริษัท บ.แอล เวฟ จำกัด และ ผู้แทนจากศูนย์วิจัยทางสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
2. อุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 13 ครั้ง รวมถึงการบรรยายเรื่องทศวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับทศวรรษใหม่ นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาเพื่อผู้บริโภคอีกมากมายอาทิเช่น การดูแลรักษาเครื่องยนต์ การเลือกซื้อเครื่องยนต์ การเลือกใช้และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องยนต์ และบทบาทของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ในประเทศไทย ผู้บรรยายที่คุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี เช่น นายเขมทัต สุคนธสิงห์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด อาจารย์ อนุภาพ ถิรลาภ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
3. อุตสาหกรรมอาหารมีเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ 5 หัวข้อ ได้แก่ Halal-HACCP บรรจุภัณฑ์อาหารในสหัสวรรษใหม่ คุณภาพวัตถุดิบอาหารไทยภายใต้แรงกดดันของ WTO โดยผู้บรรยายรับเชิญที่สำคัญอาทิ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายวิโรจน์ ภู่ตระกูล จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่จะสลัดภาระกิจสำคัญทิ้งเพื่องานใหญ่เช่นนี้ และวิทยากรจากบริษัทอาหารชั้นนำของไทย 6 บริษัท ได้แก่ TUF, Mac Key, Albatross, PM Food, Vita Food และ Suprederm ที่จะเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ "ผู้ผลิตอาหารไทยกับกลไกความสำเร็จ" พลาดได้อย่างไร และเพิ่มสีสรรให้กับงานสัมมนากลุ่มอาหารนี้ยังมีพิธีกรรับเชิญ อย่างเช่น นายจักรภพ เพ็ญแข อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หัวข้อ เรื่อง "GMOs (Genetically Modified Organisms) Food - สินค้าตัดต่อยีนกับการค้าและการบริโภค" หรือ "อาหารผีดิบ" ที่เป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลกและหาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน GMO จะมีผลต่ออนาคตการส่งออกของไทยไปยุโรปและตลาดส่งออกสำคัญอย่าง เช่นญีปุ่นมากน้อยเพียงใด หาคำตอบได้ในงานสัมมนานี้ ผู้บรรยายที่ได้เลือกสรรแล้ว อาทิ ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ (ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) และ ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเป็นต้น
4. อุตสาหกรรมซอฟแวร์นอกจากจะเป็นการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีการจัดฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การผลิตซอฟแวร์เพื่อการส่งออก ทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ การพัฒนาศักยภาพซอฟแวร์ไทย ลิขสิทธิ์ของซอฟแวร์ไทย รวมไปถึงหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Software และการใช้งานคอมพิวเตอร์ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นในปี 2000 นี้ อาทิเช่น Women Guide to the Internet, 101 things to do on the internet, Make your company/own website in 1 hour เป็นต้น ผู้บรรยายที่ทรงคุณวุฒิหลายท่านในเรื่องนี้ รวมถึงดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกลุ่มบริษัท อินเตอร์เนท เค เอส ซี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งประเทศไทย ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ดร. กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน กรรมการผู้จัดการบริษัทเค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เนต จำกัด คุณปัจฉิมา ธนสันติ ผู้อำนวยการสำนักลิขสิทธ์ เป็นต้น
5. อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเลกทรอนิคส์ (E-Commerce) การสัมมนนาเรื่องพาณิชย์อิเลกทรอนิคส์ ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ ณ ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิตของมนุษย์โลก การสัมมนาที่เราภูมิใจจะนำเสนอมีทั้งสิ้นประมาณ 11 เรื่อง เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ ความรู้เบื้องต้นของ E-Commerce การจ่ายเงินทาง E-Commerce กฎหมาย ความปลอดภัยในการทำธุรกิจ E-Commerce ตลอดจนไขข้อข้องใจต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการอบรมเชิงปฎิบัติการ โดยบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจ E-Commerce อาทิเช่น Max Saving JJshop และ Loxinfo เป็นต้น
6. อุตสาหกรรมค้าปลีกและ Franchise หัวข้อสัมมนาในสาขาอุตสาหกรรมนี้ มีทั้งสิ้น 3 หัวข้อ ได้แก่ วิธีการบริหารการลดต้นทุนแบบญี่ปุ่น หรือ Total Productivity Management-TPM) โดยบริษัทยูนิลีเวอร์ ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยคาร์ฟูร์และเสวนาแฟรนไชส์ไทย โดยบริษัทแฟรนไชส์ที่เป็นของคนไทยได้แก่ หมอมวลชน MilkPlus และคอฟฟี่บัคส์
7. อุตสาหกรรมยา มีการสัมมนาทั้งสิ้น 5 เรื่อง ได้แก่ การเลือกใช้ยาอย่างปลอดภัย และประหยัด โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและนักวิชาการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการส่งออกของยาไทย โดย บริษัท อ้วยอันโอสถ และไทยนครพัฒนา ผู้ผลิตยาชั้นนำเพื่อมวลชน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งได้แก่ สมุนไพรเพื่อสุขภาพแลความงามโดยผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนี้ ได้แก่อาจารย์พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ ยิ่งไปกว่านั้นสัมมนาเรื่องสมุนไพรชุมชนและอนาคตสมุนไพรไทย โดยอาจารญ์เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่น ๆ จะมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เรื่องปัญหา พระราชบัญญัติ R&D ตลอดจนถึงการคุ้มครองพันธุ์พืชและสิทธิภูมิปัญญาไทย
8. อุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคม ปัจจุบันการสื่อสารและการโทรคมนาคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การสัมมนาในสาขาอุตสาหกรรมนี้แบ่งเป็น 12 หัวข้อ เน้นเรื่องของเทคโนโลยีในสหัสวรรษหน้าอาทิเช่น 3rd Generation Wireless Communication Impact to Society เทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่ปี 2000 กับ Siemens สื่อสารยุค Millenium กับมือถืออัจฉริยะ เทคโนโลยีโทรคมนาคมในสหัสวรรษหน้า ITV กับเทคโนโลยีในอนาคต นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบมือถือ 800/1800 Cable UBC การเปิดเสรีโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสื่อสานผ่านเคเบิ้ลใยแก้ว ซึ่งผู้บรรยายจะมาจากทั้งบริษัทผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ รวมไปถึงภาครัฐซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น
9. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเป็นการบรรยายเรื่อง การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ทำอย่างไรที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม และรักษาสาธารณสถานให้อยู่คู่กับประเทศไทยได้ตลอดไป โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
10. "การออกแบบอุตสาหกรรม" (Industrail Design) ได้แก่ "อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ" ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องแนวโน้มการออกแบบเครื่องประดับปี 2000 การใช้เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบเครื่องประดับ และการคุ้มครองสิทธินักออกแบบเครื่องประดับ "การออกแบบเสื้อผ้าไทยสู่ตลาดโลก" มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิเช่น ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย และผ้าไทยสู่ตลาดโลก โดยจิม ทอมสัน การเข้าสู่สหัสวรรษใหม่โดย Fly Now และยังมีการสัมมนาของกลุ่มบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ อีกด้วย
11. การสัมมนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันไทย-เยอรมัน มีหัวข้อสัมมนาทั้งสิ้น 4 หัวข้อ ได้แก่ Automation Technology ความจำเป็นในการฝึกอบรม CNC, CAD, CAM การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และสถาบันไทย-เยอรมัน จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างไร
12. การสัมมนาโดยสถาบันคีนานแห่งเอเชีย มีการสัมมนาทั้งสิ้น 2 ครั้งโดยจะเน้นในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือด้านการบริการสำหรับธุรกิจ SME
13. การสัมมนาเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ (Efficient Consumer Response) โดย ECR Thailand และ ความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ยกโดยบริษัทไฮ-คิว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
14. สัมมนาเรื่องมลพิษในอากาศ โดยบริษัทฟิลเทค จำกัด ซึ่งจะครอบคลุมถึงมลพิษในอากาศ และอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษในอากาศเป็นต้น
15. สัมมนาโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีเนื้อหาสาระครอบคลุมไปถึงการทำอย่างไรให้ได้ ISO และการลดมลพิษอย่างไม่สิ้นเปลืองด้วย CT-Clean Technology
สำหรับหัวข้อสัมมนาประเภทสร้างสรร ได้แก่
การสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการดำเนินงานของผู้ประกอบการไทยมีหัวข้อการสัมมนามากกว่า 70 หัวข้อ โดยความร่วมมือขององค์กรหรือบริษัททั้งจากทั้งภาครัฐและเอกชนอาทิเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บริษัทที่ปรึกษาทางกฏหมาย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศและสมาคมนิคมฯ และสภาหอการค้าจากจังหวัดต่าง ๆ ร่วมด้วยองค์กรต่างประเทศที่ได้ให้เกียรติร่วมจัดงานสัมมนาให้บีโอไอ แฟร์ 2000 ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีความเป็นมหกรรมงานนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคและแห่งสหัสวรรษ
เมนูงานสัมมนาประเภทความคิดสร้างสรรคนี้ แบ่งออกเป็น 12 หัวข้อหลัก เพื่อเน้นองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางในเมืองไทยการส่งออกสินค้าไทย กฎหมาย ภาษี การลงทุน สิ่งแวดล้อม และการจราจรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสหัสวรรษใหม่ การบรรยายจะเน้นที่ภาคปฏิบัติที่ท่านสามารถนำไปใช้ได้ในทันที
เมนูจานเด็ดนี้ เปิดอ่านหัวข้อได้ดังนี้
1. การสัมมนาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ในเรื่องการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต Total Production Maintenance (TPM) และ Total Quality Management (TQM) รวมถึงระบบสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม โดย นายสืบตระกูล สุนทรศร นายชำนาญ รัตนากร และนายสุพจน์ ตุงคเศรวงศ์
2. การสัมมนาเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก มีหัวข้อเด็ด ๆ ที่เรียกร้องความสนใจและท้าทายภูมิปัญญาของผู้ประกอบการต้อนรับสหัสวรรษใหม่ ในเรื่องวิสัยทัศน์ SME ไทยในธุรกิจ...สหัสวรรษหน้า โดย ศจ. ดร สมชาย ภัคภาสนวิวัฒน์ ที่กรุณาทิ้งภาระกิจที่ยุ่งเหยิงมาช่วยเพิ่มสีสรรและสาระให้งาน (ไม่มี) สูตรสำเร็จสำหรับลดต้นทุน SME การตรวจสุขภาพเงินของ SME การจัดการเชิงกลยุทธ์...กุญแจแห่งความสำเร็จสู่การค้าสากล บริหารเงินทุนจาก NPL ให้ไม่เป็น NPL งานจัดระบบเอกสาร SME ความล้มเหลวของ 5ส ใน SME E-Commerce ทางเลือกใหม่สู่ความสำเร็จ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (GMO, Clean Technology) กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการลดและควบคุมต้นทุน สร้าง Vision และกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จของ SME ยุทธการลับ...ตรวจวินิจฉัยและหาทางแก้ไขด้วยตนเอง ร้านโชห่วยยุค 2000 การพัฒนาเอกลักษณ์ไทยในธุรกิจท่องเที่ยว การเตรียมพร้อมรับมือ AFTA กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายร้านยา โฉมใหม่ธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป เป็นต้น หัวข้อเหล่านี้มิใช่รหัสลับ แต่เป็นสูตรสำหรับการทำธุรกิจในยุค 2000 งานดีมีคุณภาพอีกแล้วครับท่าน กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุน ผู้บรรยายมากมายหลากหลายรอวันพบท่านอยู่ที่ศูนย์นิทรรศการ IMPACT เมืองทองธานี
3. การสัมมนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออก หัวข้อการสัมมนา 9 หัวข้อ รวมถึง โครงสร้างการส่งออกของไทย ขั้นตอนการส่งออก เทคนิคการเลือกวิธีการขนส่งสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อธุรกิจส่งออก ISO 9000 version 2000 และ HACCP
"แนวโน้มการส่งออกสู่ญี่ปุ่นในสหัสวรรษหน้า" เราบรรจงกำหนดวาระนี้เพื่อผู้ส่งออกโดยแท้ โดยได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (นายราเชนทร์ พจนสุนทร) และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ) และ พบกับผู้ประกอบการที่แท้จริงของญี่ปุ่นคือ Mr Takashi Tsuchiya จาก JETRO มาบรรยายเป็นภาษาไทยเรื่องนโยบาย ประสบการณ์การส่งออกและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ผู้ส่งออก
คลีนิคผู้ส่งออก ก็เป็นอีกกิจกรรมเด็ดอีกเรื่องหนึ่ง ที่แตกต่างจากรูปแบบการบรรยายปรกติ ที่คณะผู้จัดให้ความสำคัญ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการส่งออก และ กรมศุลกากร เพื่อให้เป็นศูนย์ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในเรื่องของการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงตอบข้อสงสัยในเรื่องสินค้าส่งออกของไทยผู้เชี่ยวชาญกว่า 40 คนจะมาคอยตอบคำถามเจาะลึกและตรงประเด็นที่ศูนย์นิทรรศการ IMPACT ห้อง L305 ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น.
4. การสัมมนาเรื่องการขอต่ออายุวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน ใน 1 หัวข้อหลักมีแตกประเด็นอีกหลากหลายในเรื่อง การขอต่ออายุวีซ่า การขอใบอนุญาตทำงานใน 3 ชม. และการขอถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บริการวีซ่าและใบทำงาน
5. การสัมมนาเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม ทำเลทองของการลงทุนในสหัสวรรษใหม่ นิคมอุตสาหกรรม SME กับทางเลือกใหม่ของการลงทุนในปี 2000 และ ก้าวใหม่: นิคมอุตสาหกรรมไทยในปี 2000 เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความสะดวกสบายในการประกอบธุรกิจ ประเภทที่ยกกระเป๋าก็เข้าไปอยู่ได้เลย ไม่ควรพลาดหัวข้อนี้เช่นกัน
6. การสัมมนาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการสัมมนาทั้งสิ้น 8 เรื่อง อาทิเช่น Green Marketing การสร้างตัวชี้วัดการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม EIA การตรวจบันทึกมลพิษ และการพัฒนาอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยวิทยากรรับเชิญ อาทิเช่น รศ. ดร. สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ ดร. เกรียงศักดิ์ อุดมสินโรจน์ คุณมีนา พิทยโสภณกิจ เป็นต้น
7. การสัมมนาเรื่องการจราจร เส้นเลือดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ที่กุมชะตากรรมของเราทั้งหมด อยู่ที่นี่ ท่านจะได้รับฟัง ระบายความในใจ และเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์กับวิทยากรที่มีชื่อเสียงคือ คุณทิพย์สุดา จาระเวชสาร จากกระทรวงคมนาคม คุณชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ จากองค์การรถไฟฟ้ามหานครและคุณการุญ จันทรางศุ จากระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หัวข้อนี้จะเน้นบทบาทของระบบขนส่งมวลชนในการแก้ไขปัญหาจราจรเป็นหลัก
8. การสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายและภาษี โดยเน้นที่กฏหมายสำหรับนักธุรกิจเพื่อรับกับปี 2000 และความรู้ใหม่ ๆ จากกฏหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ ในหัวข้อนี้บรรจุกฏหมายที่สำคัญทั้งของไทยและของต่างประเทศที่มีผลต่อการส่งออกของไทยถึง 10 หัวข้อ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในขณะนี้ อาทิเช่น การสัมมนาเรื่องข้อควรรู้เกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน กฎหมายการล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายการนำเข้าและการค้าของสหภาพยุโรป...ผลกระทบของผู้ส่งออกไทยและ "กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มีคนกล่าวถึงอย่างมาก โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ผู้บรรยายมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่คว่ำหวอดกับประเด็นร้อนทางกฏหมายนี้มาตั้งแต่ต้น
กรมศุลกากรก็มีได้น้อยหน้า ร่วมมืออย่างแข็งขันจัดงานสัมมนายิ่งใหญ่อาทิเช่น โครงสร้างภาษีศุลกากรสำหรับสหัสวรรษหน้า กรมศุลกากรกับ ISO 9002 ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ระบบราคาแกตต์ (ระบบใหม่ปี 2000) กระซิบไว้ล่วงหน้า แต่ละหัวข้อรับจำนวนจำกัดเพียง 50 คนเท่านั้น ถ้าไม่รีบมาก่อน หมดโอกาสแน่นอน หนึ่งปีมีครั้งเดียว
"สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรสำหรับผู้ส่งออก" ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมรายละเอียดของการคืนอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก การจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน และการชดเชยค่าภาษีอากรแก่สินค้าส่งออกที่ผลิตภายในประเทศ และ "สิทธิพิเศษระบบบัตรทอง" ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรได้สะดวกรวดเร็ว
เหล่านี้ข้างต้นคือการสัมมนาภาษาไทยสำหรับคนไทยและเพื่อคนไทย แต่สำนักงานฯ ยังได้คัดเลือกการสัมมนาเด็ด ๆ ไว้สำหรับนักลงทุนทั่วไปและ นักลงทุนไทยที่สนใจในหลายเรื่อง รวมทั้ง เรื่อง Foreign Business Law, Law on Goods & Services, and Price Competition, Law on Land, Condominium & Long Term Lease of Real Estate, และ Overview of U.S. Import and Trade Law : Impact on Thai Exporter ซึ่งหัวข้อเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียงทางด้านกฎหมาย นั่นคือ Baker & McKenzie และ White & Case มาเป็นผู้บรรยาย รับจำนวนจำกัดเช่นกัน เพียงหัวข้อละ 50 คนเท่านั้น งานนี้ฟรี
9. การสัมมนา เรื่อง โอกาสและลู่ทางการลงทุนสู่ภูมิภาคทั้ง 4 ภาค โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีประสพการณ์ในภูมิภาคเหล่านั้นมาให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาการบรรยายเพื่อนักลงทุนต่างชาติเพื่อสนองนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค งานนี้มีอาหารว่างเสริมด้วย
10. การสัมมนาการค้าและการลงทุนไทย-ฝรั่งเศส 3 หัวข้อ French-Thai Industrial Partnership for Export, Technology Transfer (French Experience and Expertise), และ French Technical Presentation ผู้บรรยายจะบินตรงมาจากฝรั่งเศส ใครสนใจเทคโนโลยีต่างชาติ และความรู้ใหม่ ๆ ไม่ควรพลาดเช่นกัน ฟรีอีกแล้วครับท่าน
11. การสัมมนา GMS หรือ Greater Mekong Sub-Region Investment Opportunities - A New Era of Cooperation ซึ่งถือว่าเป็นสัมมนาระดับนานาชาติเรื่องเดียวของงานบีโอไอแฟร์ 200 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2543 ณ โรงแรม เซ็นทรัล แกรนด์ พลาซ่า โดยจะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนกับผู้บริหารระดับสูง จากภาคเอกชน และผู้บริหารระดับรัฐมนตรีจากทั้ง 5 ประเทศ อันได้แก่ ไทย ลาว เมียน์ม่า เวียดนาม และจีน (ยูนาน) รวมถึงเลขาธิการจากอาเซียน และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิเช่น ADB และ ESCAPE ซึ่งเนื้อหาการสัมมนาจะครอบคลุมถึงเรื่องโอกาสและลู่ทางการลงทุน การค้า กิจกรรมความร่วมมือและบทบาทของแต่ละประเทศต่อการเจริญเติบโตของกลุ่มภูมิภาคนี้ ท่านจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำระดับประเทศของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เป็นประโยชน์มากต่อพ่อค้าและนักธุรกิจร้อยล้าน และที่กำลังแสวงหาตลาดและโอกาสการลงทุนใหม่ ผู้สนใจติดต่อขอข้อมูล ลงทะเบียน จ่ายเงิน และจองเวลานัดหมายส่วนตัวล่วงหน้ากับผู้แทนของทั้ง 5 ประเทศ ได้ที่กองการต่างประเทศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โทรศัพท์ 537-8111 ต่อ 1111-9 โทรสาร 537-8188
12. การสัมมนา ASEAN Investment Area (AIA) สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น การบรรยายจะเป็นภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทรัล แกรนด์ พลาซ่า ในช่วงเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 เน้นความคืบหน้าในโครงการเขตการค้าเสรีอาเซียน เขตการลงทุนอาเซียน โดยผู้แทนของอาเซียนและประสบการณ์การกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแบบแบ่งผลิตในอาเซียนโดยได้รับเกียรติจากบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น งานนี้ต้องจองล่วงหน้า และหากมีข้อซักถามหรือขอข้อมูลเรื่องการสัมมนาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่กองการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โทรศัพท์ (02) 537-8111 Ext 1110-9 โทรสาร (02) 537-8188
กิจกรรมเสิรมเฉพาะกิจในพาวิลเลียน
หน่วยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของสำนักงานฯ (BOI Unit for Industrial Linkage Development - BUILD) กำหนดจัดโครงการ "ผู้ซื้อพบผู้ขาย" ซึ่งเป็นกิจกรรมพบปะทางธุรกิจ (Mission Zone) จัดเป็นบูธ "ผู้ซื้อพบผู้ขาย" VCM (Vendors Meet Customers) เพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนได้พบปะพูดคุยทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีบูธ "จับคู่ทางธุรกิจ" (Matching Making Area) เพื่อรองรับการพูดคุยแบบสาวนตัว โดยจะมีพื้นที่จัดประชุมและสัมมนากลุ่มย่อยกว่า 40 ครั้งรวมอยู่ด้วย รวมทั้งมีบูธของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนงาน BOI FAIR 2000 รวม 14 หน่วยงานอยู่ใน BOI Pavilion ด้วย อาทิเช่น กรมสรรพรกร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ประมาณการว่าจะมีผู้เข้าชม BOI Pavilion ตลอดช่วง 15 วันตั้งแต่ 3-17 กุมภาพันธ์ 2543 ไม่น้อยกว่า 5 แสนคน
ผู้สนใจในรายละเอียดและกิจกรรมเสริมนี้ ติดต่อได้ที่หน่วย BUILD โทรศัพท์ (02) 936-2572 และ 936-2567 และ (02) 537-8111 ต่อ 1128, 3004 โทรสาร (02) 537-8124 หรือทาง E-mail: build@boi.go.th
เหล่านี้เป็นเมนูจานเด็ดที่คงจะช่วยเรียกน้ำย่อยก่อนงาน BOI Fair 2000 เพราะงานนี้ไม่เพียงแต่จะอิ่มตาจากการเข้าชมงานนิทรรศการเท่านั้น แต่จะอิ่มสมองกับการเข้าร่วมฟังการสัมมนา ล้วนแล้วแต่มีทีเด็ดที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีทั้งความรู้เรื่องของเทคนิค "การรู้เขารู้เรา" ตลอดจนถึงกลเม็ดเด็ดพรายต่าง ๆ สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจเป็นของฝากผู้เข้าร่วมสัมมนา
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสัมมนา และจองที่นั่งล่วงหน้า โปรดติดต่อได้ที่ บริษัท SIAM LANDMARK โทรศัพท์ (02) 930-2306-9 โทรสาร (02)930-2310 หรือสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของงานสัมมนาได้ที่
www.boi.go.th/boifair2000
www.boifair.com
www.thaiport.com
ขอย้ำงานนี้งานเดียว ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว รับจำนวนจำกัด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ