กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--มรภ.สงขลา
ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา จัดมหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก้าวสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดึงคนดัง ตัน ภาสกรนที เผยเคล็ดลับความสำเร็จ ฟากสถาบันการเงินพาเหรดแนะเคล็ดลับ กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก
น.ส.อมราวดี วงศ์เทพ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ จับมือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดงานมหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน จ.สงขลา ในวันที่ 2 กันยายน นี้ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเสวนา “ทางตัน ที่ไม่ตัน สู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่” โดย นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ที่จะมาบอกเล่าถึงการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้น ยังมีการเสวนา“กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก” โดย นายพรชัย อมตเวทย์ ประธานชมรมสถาบันการเงิน อ.หาดใหญ่ นายธฤต ศรีอรุโณทัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และ นายคมสัน วัฒนวนาพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บสย. ผู้เข้าร่วมโครงการได้แก่ อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า มรภ.สงขลา ตลอดจนผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มของนักศึกษาที่จะได้เปิดวิสัยทัศน์การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และนำทักษะความรู้ที่ได้ไปใช้ดำเนินธุรกิจ จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้ในที่สุด
ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันอย่างไร้พรมแดน จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีการใช้ความคิด ความรู้ และภูมิปัญญาเป็นฐานทั้งในรูปแบบขององค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ในลักษณะของการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ (Creation Economy) ซึ่งหากจะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางนี้ได้ จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนา สร้างสรรค์ และสร้างผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาในทิศทางดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพยายามให้ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรี หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ เปลี่ยนแนวคิดหลังจากจบการศึกษา แทนที่จะเป็นลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ลูกจ้างในหน่วยงานเอกชน เปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ ด้วยเล็งเห็นว่าจะสามารถเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ เพียงพอที่จะเติบโตในโลกของการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาประเทศ แต่พบว่านักศึกษาและบัณฑิตที่จบใหม่ที่สนใจการเป็นผู้ประกอบการยังมีอยู่น้อย เหตุผลหลักมาจากการที่ไม่มีระบบและกลไกในการสร้างความตระหนักในการเป็นผู้ประกอบการ และการสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการแก่นักศึกษาที่ชัดเจนและเพียงพอ
น.ส.อมราวดี กล่าวอีกว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่จะผลักดันให้นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วได้ประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยได้ดำเนินการในหลายรูปแบบ อาทิ เปิดการเรียนในวิชาการเป็นผู้ประกอบการ เปิดตลาดนัดวัฒนธรรมเพื่อฝึกให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ สนับสนุนการดำเนินงานบริษัทจำลอง จัดตั้งชมรมนักศึกษาผู้ประกอบการ รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจแก่นักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจภายในมหาวิทยาลัย เพื่อดูแลและรับผิดชอบในการสร้างผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นฐาน โดยมีผู้ประกอบการที่เป็นนักศึกษาด้วย