กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจกับการซื้อประกันสุขภาพมากขึ้ คปภ. จึงขอแนะนำประชาชนควรทำความเข้าใจระหว่างการประกันชีวิต และการประกันสุขภาพ แตกต่างกันอย่างไรก่อนการตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การประกันชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากการเสียชีวิต ทุกกรณี หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัย จะได้รับความคุ้มครอง การเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆกรมธรรม์ประกันชีวิต
สำหรับการประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย หรือ เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่กำหนดไว้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันเริ่มสัญญา เช่น โรคมะเร็ง และหากผู้ขอเอาประกันภัยมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาขายประกันชีวิตโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพขณะนี้ คปภ. อยู่ระหว่างประสานกับสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อขอข้อมูลมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ ที่ระบุว่าถูกบริษัทประกันภัยเอาเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นหลัก ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันมั่นใจว่า คปภ. พร้อมดูแล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันด้วยความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม คปภ. มีมาตรการเข้มงวดในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านสื่อโฆษณา ซึ่งได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง “กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556” ซึ่งกำหนดให้บริษัท หรือนายหน้าประกันชีวิต ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง มีความชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่กำกวม และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย สำหรับในกรณีที่ โฆษณาระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่า ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้เอาประกันจะต้องพิจารณาก่อนทำประกันสุขภาพ ต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้นให้เข้าใจ และเมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว ต้องตรวจสอบ เงื่อนไขในกรมธรรม์ว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลง สามารถยกเลิกได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ เลขาธิการ คปภ. กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012