กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กระทรวงพลังาน
ชี้วางกรอบการดำเนินงานตามเป้าหมายไทยได้ใช้พลังงานทดแทนจาก 12% ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 30% ในปีพศ. 2579 สร้างการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ ชุมชน สนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีในประเทศ ส่งเสริมให้การผลิตพลังงานทดแทนไทยแข่งขันได้ในตลาดสากล
? วันนี้ (26 สค.) นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังาน ได้เป็นประธาน การจัดสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านพลังงานทดแทน เพื่อระดมความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำ “ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579” โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟัง จากหน่วยงานภาคราชการ บริษัทเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง 200 คนเข้าร่วม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เข้าร่วมบรรยายจัดรับฟังความเห็นการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่ง และการผลิตความร้อนด้วยพลังงานทดแทน
? นายคุรุจิต กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579หรือ Alternative Energy Development Plan : AEDP 2015 ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งใน 5 แผนหลักการพัฒนาพลังงานของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ด้วยราคาที่ประชาชนยอมรับ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ภายใต้แผน ฯ ดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายว่าจะเกิดการใช้พลังงานทดแทนจากปัจจุบันที่มีการใช้ประมาณ 12% เพิ่มเป็น 30% ของการใช้พลังงานในขั้นสุดท้ายในช่วงปี 2579 โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแต่ละภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากปัจจุบัน 9% จะเพิ่มเป็น 15-20% การผลิตความร้อนจากพลังงานทดแทน จากปัจจุบัน 17% เพิ่มเป็น 30-35% และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ จากปัจจุบัน 7% เพิ่มเป็น 20-25% ตามเป้าหมายในแผนคือปี พ.ศ.2579
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กรอบการดำเนินงานภายใต้แผน AEDP 2015 นี้ พพ. ได้จัดทำขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เสริมสร้างการใช้พลังงานทดแทนในทุกภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ ชุมชน และสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ รวมทั้งเพื่อวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล
โดยการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในวันนี้ เพื่อนำข้อเสนอ หรือข้อคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ แล้วนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งต่อไป ซึ่ง พพ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้จะได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผน ฯ ที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป