กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 นำทีม ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่สร้างการรับรู้ภาคเกษตรระดับอำเภอ เยี่ยมเยียนเกษตรกรเพื่อรับทราบปัญหา ในพื้นที่ 6 ตำบล อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เผย เกษตรกรต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตรมากที่สุด แนะส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง
นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่สร้างการรับรู้ภาคเกษตรระดับอำเภอของอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น นำทีมเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ขอนแก่น โครงการชลประทานขอนแก่น เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ประมงอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ/เทศบาล/อบต. สภาเกษตรกรอำเภอ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและสร้างการรับรู้ภาคเกษตร พบปะพูดคุย ฟังปัญหาความเดือดร้อน ปรับทุกข์ สร้างขวัญกำลังใจและรับข้อคิดเห็นของเกษตรกร จาก 6 ตำบล ในอำเภอพระยืน
ในการนี้ ได้ออกปฏิบัติการวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ช่วงเช้าเข้าเยี่ยมเยียนเกษตรกรตำบลบ้านโต้น ช่วงบ่ายเข้าเยี่ยมเยียนเกษตรกรตำบลหนองแวง ส่วนวันที่ 19 สิงหาคม 2558 เยี่ยมเยียนเกษตรกรตำบลพระบุและเกษตรกรตำบลขามป้อม และวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เข้าเยียมเยียนเกษตรกรตำบลพระยืน และเกษตรกรตำบลพระยืนมิ่งมงคล
ผลปฏิบัติการเยี่ยมเยียนพบว่า ปัญหาอันดับต้นของเกษตรกรอำเภอพระยืน คือ ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเกษตร รองลงมาคือ ขาดอำนาจการต่อรองในการขายผลผลิต ขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ราคาปัจจัยการผลิตสูง ราคาผลผลิตต่ำ ดินไม่ดี ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีและขาดแคลนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์ มีตลาดไม่เพียงพอที่จะรองรับผลผลิต ตลอดจนปัญหาโรคระบาด และปัญหาภัยธรรมชาติ
สำหรับคำแนะนำของเกษตรกรและวิธีแก้ปัญหาของหน่วยงานราชการที่ควรไปดำเนินการ คือ หาวิธีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและขุดคลองส่งน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาลในไร่นา ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการขายผลผลิตแก้ปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาผลผลิต มีการรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตในราคาถูก ต้องมีการส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนและรักษาคุณภาพข้าว ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อผลิตปุ๋ยในชุมชุนไว้ใช้เอง มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้ชุมชนยืมเพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ทีมชุดปฏิบัติการฯ ได้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวจะได้มีการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือต่อไป นางราตรี กล่าวในที่สุด