กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--WWF-ประเทศไทย
รัฐบาลไทยเผาทำลายงาช้างแอฟริกาของกลางผิดกฎหมายที่ยึดมากกว่า 2 ตันในพิธีบดและเผาทำลายงาช้างครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการกำจัดอาชญากรรมสัตว์ป่าและการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีบดทำลายงาช้างของกลางที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดิน อันประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนาพุทธและพิธีพราหมณ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ช้างแอฟริกาที่ถูกฆ่าเพื่อเอางาอย่างโหดร้าย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนทางการทูต และองค์กรอนุรักษ์ร่วมเป็นสักขีพยานในการบดทำลายงาช้างดิบ งาช้างแกะสลัก และผลิตภัณฑ์งาช้างด้วยเครื่องบดหิน หลังจากนั้นงาช้างที่ถูกบดทำลายได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเข้าสู่กระบวนการเผาทำลายจนไม่หลงเหลือซาก
“เราต้องทำต่อเนื่อง ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำอะไรต้องให้เป็นรูปธรรมเป็นก้าวต่อไปของไทยให้นานาประเทศยอมรับเราได้ เราจะร่วมมือทำกันต่อไปและดูแลช้างและทรัพยากรธรรมชาติของเราให้ดีที่สุดด้วยกฎหมายและการปฎิบัติที่เข้มงวด” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีบดทำลายงาช้างของกลาง กล่าว
งาช้างของกลางทั้งหมดในครอบครองของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศุลกากรได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดขนาด และตรวจสอบทะเบียนประวัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใสก่อนการเผาทำลายตามหลักปฏิบัติที่มีมาตรฐานสูงสุดทั่วโลก โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมกับ WWF-ประเทศไทย (กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย) และมูลนิธิฟรีแลนด์ร่วมตรวจสอบ
“การทำลายงาช้างของกลางในครั้งนี้เป็นมากกว่าเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะนี่คือหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในความพยายามของประเทศไทยในการขจัดปัญหางาช้างผิดกฎหมายในปีที่ผ่านมา”
นางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตัวแทนจาก WWF ผู้เข้าร่วมการตรวจสอบในครั้งนี้กล่าว “ประเทศไทยของเราได้ถูกใช้เป็นทางผ่านและแหล่งซื้อขายงาช้างผิดกฎหมายที่มาจากทวีปแอฟริกาและเอเชียมาเป็นเวลายาวนาน พิธีทำลายงาช้างในครั้งนี้สอดคล้องกับพันธสัญญาของรัฐบาลไทยและเจตจำนงค์ของคนไทยในการร่วมกันหยุดการลักลอบการค้างาช้างผิดกฎหมายซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับโลก”
ในแต่ละปี ช้างแอฟริกากว่า 30,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อลักลอบนำงาเข้ามายังประเทศที่มีตลาดเปิดกว้างและไร้การควบคุมทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี เช่นประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้อาชญากรสัตว์ป่าสามารถฟอกงาช้างผิดกฎหมายปริมาณมหาศาลได้จากช่องโหว่ทางกฎหมายในประเทศ ในปี 2558 เพียงปีเดียว กรมศุลกากร สามารถตรวจยึดงาช้างแอฟริกาผิดกฎหมายครั้งใหญ่ได้ถึง 11 ครั้งโดยสองครั้งของการตรวจยึดเป็นงาช้างน้ำหนักกว่า4 ตันและ 3 ตัน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติให้ปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ และด้วยความเสี่ยงในการถูกคว่ำบาตรทางการค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) รัฐบาลจำต้องร่างแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติขึ้น การเผาทำลายงาช้างของกลางในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันและปราบปรามงาช้างผิดกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ปัญหางาช้างผิดกฎหมาย โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยต่อคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ในวันที่ 15 กันยายนนี้ด้วย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติงาช้าง ซึ่งมีผลให้มีการแจ้งครอบครองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างของผู้ค้าและผู้บริโภคทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านอันเป็นช้างเอเชียเท่านั้นอีกด้วย โดยงาช้างน้ำหนักรวมกว่า 220 ตัน ในการครอบครองของประชาชนกว่า44,000 ราย ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนภายในกำหนดเวลาคือวันที่ 21 เมษายน นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งห้ามมีไว้หรือซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้มาจากช้างแอฟริกาด้วยไม่ว่ากรณีใดๆ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย
“ในปีนี้ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังคงมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ในภายภาคหน้า ทั้งการบังคับใช้ข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ การปราบปรามผู้ค้างาช้างผิดกฎหมาย รวมถึงการลดอุปสงค์ในสินค้าเหล่านั้นด้วย” นางสาวจันทน์ปาย กล่าว
อย่างไรก็ดี WWF เสนอแนะให้มีการดำเนินวิธีการติดตามงาช้างถูกกฎหมายและเหล่าผู้ค้าปลีกในระบบภายใต้กฎหมายใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพที่จะสามารถนำมาใช้ในการควบคุมตลาดการค้างาช้างได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงเรื่องชนิดและลักษณะของใบรับรองการซื้อขายที่จะออกให้กับผู้ซื้อสินค้า และสิ่งสำคัญที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือด้านการบังคับใช้กฎหมายงาช้างฉบับใหม่นี้ ทั้งในเรื่องการตรวจสอบสินค้างาช้างและตลาดค้าปลีกในอนาคต และบทลงโทษสำหรับผู้ค้าโดยไม่มีใบอนุญาตและไม่นำผลิตภัณฑ์มาขึ้นทะเบียนว่าจะเป็นอย่างไร
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้แสดงความมุ่งมั่นในการกำจัดการลักลอบการค้างาช้างผิดกฎหมายและอาชญากรรมสัตว์ป่า ในฐานะประเทศผู้สนับสนุนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่อง การแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอีกด้วย