สจร.เตรียมส่งร่าง พรบ.จัดหาอสังหาฯ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนเข้าสภาผู้แทนฯ สมัยหน้า

ข่าวทั่วไป Thursday October 16, 1997 08:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ต.ค.--สจร.
สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) โชว์ผลงานยกร่างกฎหมายจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ....ผ่านความเห็นชอบวุฒิสภาแล้ว แต่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นให้เหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้นก่อนส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า
พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ.... ว่า เนื่องจากการดำเนินการตามโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนในเมืองอื่น ๆ อาจมีทั้งส่วนที่ต้องสร้างไปบน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน รัฐอาจมีความจำเป็นต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เป็นแดนกรรมสิทธิ์บน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ ซึ่งมิใช่กรณีเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และโดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องนี้ไว้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
"สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นให้เหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มเติมให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิร้องขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์ได้ถ้าไม่ได้ใช้ภายใน 10 ปี และกรณีการร้องขอให้เวนคืนถ้าเจ้าของไม่อาจใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้ตามปกติได้เพิ่มเติมให้เจ้าของมีสิทธิร้องขอให้จัดซื้อได้ด้วย" พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวเสริม
เลขาธิาการ คจร.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมไปยังสภาผูแทนราษฎรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าสภาผู้แทนราษฎรมิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญและเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาแล้ว ถือว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ขั้นตอนต่อไปคือ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะมีการนำเสนอสภาผูแทนราษฎรเมื่อเปิดสมัยประชุม
สำหรับลักษณะของกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในส่วนของการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้พื้นดิน โดยได้กำหนดให้ใช้วิธีกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์และจ่ายค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สร้างรถไฟฟ้า เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เป็นต้น ต่างสามารถใช้กฎหมายนี้ได้---จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ