ไทยปรับกลยุทธ์พิชิตไข้มาเลเรีย ดึง 9 ประเทศเพื่อนบ้านร่วมแก้ปัญหา

ข่าวทั่วไป Thursday October 2, 1997 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 ต.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
สธ.ชี้ กว่า 70% ของผู้ป่วยมาลาเรียในไทย เป็นประชาชนใน 10 จังหวัดชายแดนที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีการอพยพเคลื่อนย้ายประชากรเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา การแก้ปัญหาเฉพาะในประเทศไทยฝ่ายเดียวจึงไม่สามารถที่จะกำจัดโรคให้หมดไปได้ กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าปรับกลยุทธ์ปราบไข้มาลาเรียแนวใหม่ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบปัญหาเดียวกัน และจัดติวเข้มบุคลากรมาลาเรียขึ้น หวังลดปัญหามาลาเรียในภูมิภาคนี้ไปพร้อม ๆกัน
นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมมาลาเรียนานาชาติ หลักสูตร MANAGEMENT OF MALARIA FILED OPERATIONS ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์ไข้มาลาเรียในระยะ 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 - 31 สิงหาคม 2540 พบผู้ป่วยมาลาเรียทั่วประเทศจำนวน 91,520 ราย เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 31 ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดนี้ ร้อยละ 87 เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 30 จังหวัดชายแดนของประเทศ และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นงบประมาณปีนี้จะมีอัตราการติดเชื้อถึง 1.8 ต่อประชากร 1,000 คน สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียมาก 10 อันดับแรกเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ตาก, แม่ฮ่องสอน, ตราด, กาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงใหม่, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี, ประจวบคีรีขันธ์, และราชบุรี โดยพบผู้ป่วยจำนวนถึง 67,242 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.5 ของจำนวนผู้ป่วยที่พบทั่วประเทศ
นายแพทย์ยุทธ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า แม้ว่าในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทยลดลงมาก แต่การควบคุมไข้มาลาเรียกลับมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีชุกชุมอยู่ในบริเวณชายแดน ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา การคมนาคมลำบาก มีการเคลื่อนย้ายประชากรไปมาระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติที่นำเชื้อมาลาเรียมาแพร่ระบาดในประเทศไทยปีละมากกว่า 5 หมื่นราย ซึ่งใน 10 เดือนแรกของปีนี้ ได้ตรวจพบผู้ป่วยต่างชาติที่มีเชื้อมาลาเรียแล้วถึง 53,495 ราย
ดังนั้นการแก้ไขปัญหามาลาเรียเฉพาะในประเทศไทยจึงไม่สามารถกำจัดโรคให้หมดไปได้ จำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้ความช่วยเหลือและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ในการควบคุมไข้มาลาเรียให้ได้ผลไปพร้อม ๆ กัน จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมไข้มาลาเรีย (Asian Collaborative Training Network for Malaria : ACTMalaria) ขึ้น โดยมีหลักการที่จะระดมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ โดยการนำเอาทรัพยากรในแต่ละประเทศมาใช้ร่วมกันให้มากที่สุด และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุด ประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ จึงมอบหมายให้ประเทศไทย โดยกองมาลาเรีย กรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายในปี 2540-2541 และให้อินโดนีเซียเป็นผู้ประสานงานต่อในปี 2542-2543
ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการอบรมมาลาเรียนานาชาติในครั้งนี้ขึ้น โดยมีบุคลากรสาธารณสุขระดับสูง ผู้รับผิดชอบงานควบคุมและป้องกันมาลาเรียจำนวน 17 คน จากประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ 10 ประเทศ คือ ประเทศจีน เวียตนาม, กัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, พม่า, บังคลาเทศ, มาเลเซีย, มัลดิฟส์ และไทย เข้ารับการอบรม เป็นหลักสูตรภาคทฤษฏี 2 เดือนในประเทศไทย และอบรมภาคสนามที่ประเทศจีนอีก 3 สัปดาห์ การจัดการอบรมในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าของการพัฒนาการควบคุมไข้มาลาเรียแนวใหม่โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้สถานการณ์มาลาเรียของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้จะลดลง และเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ