กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คำตอบจากแกนนำชุมชน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยต้องรักสามัคคี? OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง คำตอบจากแกนนำชุมชนถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยต้องรักสามัคคี OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,057 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ ดำเนินโครงการในวันที่ 21-27 สิงหาคม 2558
ผลการสำรวจการรับรู้ต่อข้อความรณรงค์ของนายกรัฐมนตรี “OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER?TOGETHER” พบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ระบุเคยได้ยิน/เคยพบเห็นแล้ว ร้อยละ 27.2 ระบุยังไม่เคยได้ยิน/ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน/เพิ่งจะทราบ ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 91.5 ระบุว่าข้อความ OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER?TOGETHER ทำให้รู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย รองลงมาคือร้อยละ 87.9 ระบุทำให้รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมในการทำเพื่อประเทศชาติ ร้อยละ 87.6 ระบุรู้สึกมีกำลังใจเข้มแข็งมากขึ้น ร้อยละ 85.1 รู้สึกมีความสุขที่คนไทยกลับมารวมพลังรักสามัคคีกันได้อีกครั้ง และร้อยละ 84.6 ระบุรู้สึกชื่นชมในความพยายามของรัฐบาลและ คสช.
นอกจากนี้ แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 99.7 ระบุค่อนข้างเห็นด้วย-เห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องร่วมแรงร่วมใจแสดงความรักสามัคคี และจับมือกันเดินไปข้างหน้าเพื่อประเทศของเรา ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้นที่ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย โดยพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 95.3 ยังคงเชื่อมั่นว่าคนไทยทั้งประเทศจะสามารถร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันทุกอย่างไปได้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะคนไทยไม่เคยทิ้งกัน คนไทยไม่แล้งน้ำใจดูแลห่วงใยกันเสมอ ตราบใดที่ยังมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต้องผ่านไปได้ มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจให้คนไทย เชื่อมั่นว่า คสช.จะสามารถแก้ไขปัญหา และพาคนไทยผ่านพ้นไปได้ รัฐบาลชุดนี้ทำให้คนไทยรวมเป็นหนึ่งเดียว เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้คนไทยรักกันมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 4.7 ระบุไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองยังวุ่นวายและแตกแยกอยู่ หลายกลุ่มมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงสิ่งที่อยากจะบอกกับต่างประเทศ/นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 79.9 ระบุว่าอยากขอโทษและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยยังยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน นอกจากนี้ร้อยละ 50.9 ระบุอยากบอกว่าประเทศไทยยังมีที่น่าท่องเที่ยวอีกมาก อยากให้มาเที่ยวประเทศไทย ร้อยละ 44.1 ระบุอยากให้เชื่อใจรัฐบาลไทยว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ขอให้เชื่อมั่นในคนไทยอีกครั้ง ร้อยละ 13.9 ระบุประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีความปลอดภัย ในขณะที่ร้อยละ 10.9 ระบุอยากให้เข้าใจและไม่ตื่นตระหนก ประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ ร้อยละ 7.6 ระบุประเทศไทยพร้อมที่จะปกป้องนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามร้อยละ 5.4 ระบุอยากให้ชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวระมัดระวังและดูแลตัวเอง พร้อมทั้งตรวจสอบสถานการณ์ด้วย
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.2 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.1 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 36.0 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 57.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 38.1 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 43.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 6.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 12.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 75.3 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 13.9 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 10.8 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 20.6 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.3 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 26.9 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 34.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ