กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เชื่อว่าหลายๆคน ต้องเจอกับปัญหามลภาวะมากมายในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้ง ควันรถยนต์ ควันบุหรี่ ซึ่งตัวช่วยในการดูดซับมลภาวะอย่างต้นไม้ สวนสาธารณะ ก็มีไม่เพียงพอ จากปัญหาเหล่านี้ทำให้ น.ส.กฤติกา วิรัติ (ฟักแฟง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เกิดไอเดียเจ๋งๆ โดยใช้การออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์มาช่วยลดปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดผลงาน “Smoking Zone”
“Smoking Zone” ได้รับรางวัลการันตีความเจ๋งจากประเทศญี่ปุ่น โดยได้รางวัล Honorable Mention ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 4 ผลงานยอดเยี่ยมจากการประกวดออกแบบ Nippon Paint Young Designer Awards 2014 ระดับเอเชีย ในหัวข้อหัวข้อ Re:Think Re:Create Our Community Our Home
พูดให้เข้าใจง่ายๆ “Smoking Zone” คือสถานที่ ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้แบ่งโซนสูบบุหรี่ ซึ่งมีแนวคิดหลักในการช่วยแก้ปัญหามลภาวะจากควันรถยนต์ และควันบุหรี่ โดยสถานที่ซึ่งถูกเลือกนำมาใช้ในการออกแบบ Smoking Zone คือบริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งโซนสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ชั้น2ของตัวอาคาร Smoking Zone เพื่อเป็นการยกระดับให้ควันจากบุหรี่ลอยสู่อากาศด้านบนแทน เป็นการเลี่ยงไม่ให้รบกวนผู้คนที่รอรถเมล์อยู่ด้านล่าง อีกทั้ง Smoking Zone ยังออกแบบมาให้มีสวนแบบแนวตั้ง เพื่อประโยชน์ในการดูดซับควันพิษ สร้างพื้นที่สีเขียว และทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความผ่อนคลายเพื่อสร้างจุดดึงดูดในการใช้งาน อีกทั้งพื้นที่ใช้สอยด้านล่างของตัวอาคาร Smoking Zone สามารถจัดแบ่งให้เป็นพื้นที่ในการขายสินค้าต่างๆ ช่วยในการลดปัญหาหาบเร่ แผงลอย ริมถนนได้อีกด้วย
ฟักแฟง ได้บอกว่า ผลงาน Smoking Zone ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้คนหันมาสูบบุหรี่ แต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้คนที่สูบหรี่ และคนที่ไม่สูบบุหรี่ สามารถอยู่ร่วมกันได้แบบเคารพซึ่งกันและกัน และยังช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวที่ช่วยในการกรองมลพิษอีกด้วย โดยแนวคิดต่างๆที่ใช้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมครั้งนี้ ยังสามารถพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกมากมาย เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับคน สถานที่ สภาพแวดล้อม และการใช้งานจริง เพื่อให้เกิดความลงตัวที่สุด ซึ่งการที่ได้เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทำให้ได้คิดงานออกแบบที่สามารถใช้งานได้จริง เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะได้เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง