กทม.เตรียมสัมมนาเจ้าของอาคารสูง สร้างจิตสำนึกการป้องกันอัคคีภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 16, 1997 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ก.ค.--กทม.
วันที่ 15 ก.ค. 40 เวลา 13.00 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ประภาภัทร นิยม รองผู้ว่าฯ กทม. นายสมคาด สืบตระกูล เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกทม. และนายบำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ รองปลัดกทม. ได้ร่วมแถลงข่าวมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากการที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจสอบการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูง จำนวนกว่า 700 ราย ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมานั้น ในที่ประชุมคณะผู้บริหารในวันนี้ได้มีการนำเสนอผลการตรวจสอบพร้อมทั้งได้กำหนดแนวทางที่เป็นนโยบายหลักเพื่อเป็นมาตรการในการดำเนินงานเป็นแผนงาน 5 ประการ ดังนี้ 1. จะมีการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการอาคารสูง ทั้งอาคารใหม่ จำนวนกว่า 700 ราย และอาคารที่ก่อสร้างก่อนกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งมีประมาณเกือบ 2,000 ราย ทั้งนี้เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเจ้าของอาคาร โดยจะประชุมร่วมกันในแลายเดือน ก.ค. นี้ 2. การตรวจซ้ำอาคารที่เข้าข่ายต้องดำเนินการแก้ไข 25 ตึก อีกครั้ง ว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขอย่างไร 3. ควรมีการตรวจสอบการใช้งานระบบป้องกันอัคคีภัยของตึกอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เจ้าของอาคารปฎิบัติตามหลักเกณฑ์การป้องกันและระงับอัคคีภัย ซึ่งกรณีนี้ได้มีแนวคิดที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีรส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งาน และซักซ้อมการป้องกันและระบบอัคคีภัยของแต่ละอาคาร โดยให้สำนักการโยธาศึกษาดูข้อกฎหมายว่าจะเป็นไปได้อย่างไร 4. การทำแผนประสานงานเกี่ยวกับจุดติดต่อ จุดสั่งการ จุดเคลื่อนตัวของแต่ละหน่วยงานที่เข้าไปแก้ไขปัญหากรณีเกิดเพลิงไหม้ว่าแต่ละหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานของกทม. ตำรวจ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ จะประสานงานกันอย่างไร เพื่อป้องกันการสับสน 5. การตวจสอบอาคารสูง สำนักการโยธาจะกำหนดแนวทางปฎิบัติไว้ล่วงหน้าก่อน โดยจะไม่รอกฎกระทรวง ฉบับที่ 38 ฉบับแก้ไข ซึ่งประกาศใช้โดยกรมโยธาธิการ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งจะนำแนวทางปฎิบัติดังกล่าวแจ้งให้ผู้ประกอบการอาคารสูงทราบในการประชุมสัมมนาที่จะมีขึ้นด้วย
ปลัดกทม.กล่าวถึงการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการอาคารสูงว่า กทม. ได้เน้นเรื่องวิธีการป้องก้นอัคคีภัย ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ เจ้าของอาคาร ถ้าเจ้าของอาคารได้ให้ความสนใจ เอาใจใส่ และมีความระมัดระวังแล้ว ปัญหาอัคคีภัยคงจะไม่เกิด ดังนั้นการประชุมสัมมนาที่จะมีขึ้นจึงเป็นการสร้างจิตสำนึกแก่เจ้าของอาคาร อย่างไรก็ดีการที่กทม. จะเชิญเจ้าของอาคารมาประชุมสัมมนาไม่ใช่เป็นการผลักภาระ แต่เป็นการช่วยเจ้าของอาคารทางหนึ่ง เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้เจ้าของอาคารจะต้องตกเป็นจำเลยด้วย สำหรับการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการอาคารสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป รวมจำนวนเกือบ 3,000 ราย โดยการสัมมนาจะมีการประเมินความเสียหายจากอาคารหลายแห่ง ประมวลเป็นภาพสไลด์ฉายให้เจ้าของอาคารดู พร้อมทั้งมีวิทยากรแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย การดูแลรักษาระบบป้องกันอัคคีภัย ฯลฯ ด้วย
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถุึงการตรวจสอบอาคารสูงของหน่วยเฉพาะกิจว่า เป้าหมายในการตรวจสอบของหน่วยเฉพาะกิจได้ยึดประเด็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารเป็นหลักโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมากจะต้องมีการตรวจสอบที่รัดกุม 8-9 ประเด็น เช่น ทางลงบันไดหนีไฟ สัญญาณแจ้งทางหนีไฟภายในอาคาร การตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางหนีไฟ เป็นต้น และจากการตรวจสองอาคารกว่า 700 แห่ง พบว่ามีอาคารที่อยู่ในเกณฑ์ต้องแก้ไขจำนวน 25 ราย ซึ่งจะต้องมีการตรวจซ้ำ อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีการตรวจซ้ำหลายครั้ง แต่ถ้าไม่มีมาตรการที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจนแล้วการตรวจก็จะไม่ได้ผล ดังนั้นอาจจะมีการกำหนดมาตรการว่า หลังจากตรวจอาคารแล้วพบว่าอาคารดังกล่าวอยู่ในข่ายที่ต้องแก้ไข ปรับปรุงก็ให้เขตเป็นผู้ดำเนินการแจ้งให้เจ้าของอาคารแก้ไขอย่างเร่งด่วนทันที โดยกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขอย่างชัดเจนว่าจะต้องแก้ในเรื่องใดบ้าง ใช้เวลาเท่าใด โดยระยะเวลาในการแก้ไขอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 เดือน และเมื่อครบกำหนดแล้วคณะตรวจจะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งถ้าพบว่ายังไม่ดำเนินการแก้ไขจะปิดการใช้อาคารดังกล่าวต่อไป
เลขานุการผู้ว่ากทม. กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้ให้สำนักงานเขตกำหนดพื้นที่เป้าหมายตึกที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ เพื่อดำเนินการฝึกซ้อมการป้องกันและระงับอัคคีภัยภายในตึก รวมทั้งเตรียมประสานแผนกับศูนย์อุบัติภัยของกทม. และตำรวจดับเพลิงด้วย เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและระงับอัคคีภัยมีประสิทธิภาพ
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยอาคารสูงเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.40) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสนาะ เทียนทอง ได้ชมเชยกทม.ว่าได้มีการเตรียมการล่วงหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเป็นอย่างดี นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังได้ให้ กทม. ออกตรวจอาคารสูงครั้งใหญ่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะตั้งคณะกรรมการประชุมเพื่อเตรียมการในรายละเอียดว่าจะร่วมกันดำเนินการอย่างไรบ้าง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ