กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สปช. และประชาชนควรตัดสินใจอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความต้องการให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัดสินใจอย่างไรในการลงมติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.70 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติรับ ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ จะได้เป็นไปตามแผน Rode Map ตามที่ คสช. วางไว้ และเข้าสู่กระบวนการต่อไป เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นการลดอำนาจของกลุ่มนักการเมืองที่เข้ามามุ่งหวังผลประโยชน์ โดยเฉพาะที่มาของนักการเมืองและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งน่าจะดีกว่าฉบับเดิม รองลงมา ร้อยละ 22.82 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ระบุ/เป็นเรื่องของ สปช. ร้อยละ 20.11 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติงดออกเสียง ร้อยละ 14.37 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มาจากประชาชน บางหมวดยังไม่มีความชัดเจน มีช่องว่าที่ยังต้องแก้ไขอยู่ และถึงแม้ว่าผ่านความเห็นชอบมาแล้ว สุดท้ายก็ยังมีการเสนอแก้ไขใหม่อยู่ดี และร้อยละ 2.00 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ไม่เข้าร่วมประชุม เพราะ ไม่ต้องการให้ สปช. เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึง ในกรณีที่ สปช. ตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ และ หากวันนี้มีการทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.62 ระบุว่า จะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ได้รับความเห็นชอบจาก สปช. แล้ว จึงน่าจะมีความไว้วางใจในระดับหนึ่ง ซึ่งที่ ผ่านมาประเทศไทยต้องเสียเวลาและงบประมาณในการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้งแล้ว ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทย และต้องการเห็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 28.81 ระบุว่าจะลงมติไม่ออกความเห็น เพราะ ยังไม่มีข้อมูลหรือทราบถึงเนื้อหารายละเอียดข้อดี – ข้อเสีย ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอ ร้อยละ 15.32 ระบุว่า จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ยังมีบางหมวดที่ต้องได้รับ การแก้ไข ซึ่งฉบับนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ฉบับเดิมน่าจะดีกว่า ร้อยละ 6.23 ระบุว่า จะไม่ไปลงมติ เพราะ ไม่สะดวกในการไปลงมติ และร้อยละ 9.02 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 16.28 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.12 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.05 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.63 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.37 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 8.30 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 17.96 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 25.38 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 36.31 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 11.41 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 95.13 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.27 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.35 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.30 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.31 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.57 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.57 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.54 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 24.50 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 6.54 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.93 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 12.29 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 24.34 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.08 ประกอบอาชีพ เกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 14.84 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 14.37 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 2.63 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.48 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.78 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 29.29 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 10.69 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 5.51 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.66 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 5.59 ไม่ระบุรายได้