กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดร่วมลงนามในโครงการที่มีชื่อว่า Soft Commodities Compact (ความร่วมมือด้านสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร) ต่อต้านการรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตร โดยตั้งเป้าหมายให้การตัดไม้ทำลายป่ากลายเป็นศูนย์ (zero net deforestation) ตลอดจนมีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในจำนวนเท่ากัน ภายใน พ.ศ. 2563
Soft Commodities Compact เป็นความคิดริเริ่มภายใต้กลุ่ม Banking Environment Initiative (BEI) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในบทบาทของภาคเอกชนด้านการเงินการธนาคาร ที่จะมีส่วนร่วมปกปักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดรูปแบบพันธสัญญาในทำนองเดียวกับกลุ่ม Consumer Goods Forum (CGF)ที่มีสมาชิกราว 400 องค์กร มีกำลังซื้อรวมกันทั่วโลกกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งมั่นจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มภายใน พ.ศ. 2563
ภายใต้โครงการ Soft Commodities Compact ธนาคารฯ จะร่วมมือกับลูกค้าที่ทำธุรกิจด้านการเกษตร วางนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการให้สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการ ตลอดจนธุรกรรมการธนาคารอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจของลูกค้าธนาคารฯ ดังกล่าวไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ จากสถิติระหว่าง พ.ศ.2523-2543 พบว่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรกว่า 80% มาจากการปลูกปาล์มน้ำมัน และถั่วเหลือง
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นธนาคารลำดับที่ 10 ของโลกที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากประชุมร่วมกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และผู้นำทางธุรกิจระดับ ตลอดจนลูกค้าของธนาคาร
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ธนาคารฯ มีนโยบายที่เป็นจุดยืนในการทำธุรกรรมและให้สินเชื่อต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของระบบนิเวศ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ธนาคารพยายามสร้างความเข้าใจและร่วมมือกับลูกค้าที่ทำธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ให้ตระหนักในจุดยืนดังกล่าว โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานด้านธุรกิจกับทีมงานด้านบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธนาคาร เพื่อสร้างความตระหนักแก่ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งวางข้อกำหนดพื้นฐานให้สมาชิกบรรลุเป้าหมายการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ ภายในปี 2020
การลงนามในโครงการ Soft Commodities Compact แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่มีต่อการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และมุ่งมั่นสนับสนุนให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งสร้างสรรค์และส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินที่จะสนับสนุนโครงการSoft Commodities Compact เช่น เลตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับการขนส่งที่ยั่งยืน (BEI’s Sustainable Shipment Letter of Credit) ซึ่งส่งเข้าชิงรางวัล FT / IFC Transformational Business Award