กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 5.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· ตลาดหุ้นทั่วโลกวันที่ 24 ส.ค. 58 ลดลงรุนแรง เริ่มจากตลาดหุ้นจีนดัชนี Shanghai Composite ลดลง8.5% อยู่ที่ 3,057.70 ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jowes ลดลง 3.6% อยู่ที่ 15,871.35 จุด เกิดภาวะPanic Sell ทั้งนี้นักวิเคราะห์เห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถเติบโตตามเป้าที่กำหนดไว้ในปีนี้ที่ 7%
· Caixin/Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager’s Index - PMI) ของจีน เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 47.1 จุด (ลดลงจากเดือนก่อน 0.7 จุด) ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง และอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งแสดงภาคการผลิตถดถอยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานความต้องการใช้น้ำมัน (Implied Oil Demand) ที่ไม่รวมน้ำมันที่เก็บในคลังสำรอง เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 10.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้จะ (ลดลงจากเดือนก่อน 1.1% (แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.1%)
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. 58เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 676 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6
· Platts รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบปริมาณ 2.1 ล้านบาร์เรล จากเรือบรรทุกน้ำมันที่เก็บลอยลำ (Floating Storage) ทั้งนี้ประเมินล่าสุดวันที่ 24 ส.ค. 58 มีน้ำมันดิบและ Condensate รวม 51-53 ล้านบาร์เรล เพื่อรอการส่งออกที่ถูกจำกัดจากมาตรการคว่ำบาตร ปัจจุบันอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่เก็บบน Floating Storage ได้ส่วนหนึ่งก่อนการยกเลิกการคว่ำบาตร
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่สองของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2/58 อยู่ที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนปรับสูงขึ้นกว่าการรายงานครั้งแรกที่ 2.3% และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่สำรวจโดย Reuters ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.2% เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการณ์ครั้งก่อนมาก
· The People's Bank Of China (PBOC) ของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง 0.25 % และปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก 0.50 % มีผลบังคับใช้วันที่ 26 ส.ค. 58 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพยุงตลาดหุ้นที่กำลังสั่นคลอน
· กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้ากลั่นในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 5.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.5% และ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.5%) และกำลังการกลั่นจะลดลง 134,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงในเดือน ส.ค. 58 (ลดลงจากเดือนก่อน 169, 000 บาร์เรลต่อวัน)
· The Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น 10.5 จุดอยู่ที่ระดับ 101.5 จุด มากกว่าผลสำรวจของนักวิเคราะห์ของ Bloombergและสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในรอบ 8 ปี บ่งชี้ภาคแรงงานฟื้นตัวได้ดี
· กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 5.4% มาอยู่ที่ระดับ 507,000 หลังต่อปี เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 450.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25ส.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 12,574 สัญญา มาอยู่ที่ 101,609 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อน้ำมันในตลาดล่วงหน้าเพื่อทำกำไรหลังขายไปก่อนหน้า (Short-Covering) และจากข่าวกองกำลังทางอากาศของซาอุดีอาระเบียโจมตีเป้าหมายในเยเมนหลายจุด ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 58 ราย ด้านเศรษฐกิจธนาคารกลางหลายประเทศเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารกลางอินเดียเตรียมลดอัตราดอกเบี้ย และ ECB ที่ยังคงนโยบาย QE เพื่อเสริมสภาพคล่องต่อไป ขณะที่จีนซึ่งใช้มาตรการปรับลดเงินดาวน์ การจัดหาเงินกู้จำนอง เกื้อหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่ง Moody’s คาดว่า ในครึ่งหลังปีนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมีบ้านค้างสต๊อกลดลง จากราคาและยอดขายบ้านมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงใน เดือน ก.ย. และจะปิดดำเนินการสูงสุดช่วงเดือน ต.ค. 58 และ Moody’s ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 59 จากวิกฤติเศรษฐกิจจีน อีกทั้ง FED สาขาแอตแลนตา รายงานผลการ Run แบบจำลองคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ พบว่ามีแนวโน้มขยายตัว 1.2% ในไตรมาส 3/58 โดยต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.4 % โดยได้รับผลกระทบจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายด้านบริการในเดือน ก.ค. 58 ให้จับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่เพิ่มสู่เป้าหมายที่ 2% และ ติดตามพายุ ในอ่าวเม็กซิโกที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่สำคัญของสหรัฐฯที่ล่าสุด พายุErika ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 5 ของปีนี้ ได้อ่อนแรงลงและขึ้นฝั่งที่รัฐฟลอริดาแล้ว ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent, DUBAI และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44.8 – 53.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล , 43-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 40.1-47.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Platts เผยตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เนื่องจากมีอุปทานปริมาณมากเข้าสู่ตลาด อาทิ Sinopec จากจีนออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RONปริมาณ 450,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 2 ก.ย. 58 จากโรงกลั่น Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบีย อีกทั้ง Platts คาดจีนมีแนวโน้มจะส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว และผู้ขายได้รายรับเพิ่มขึ้นหลังเงินหยวนลดค่า และ Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล หรือ 5.4 % อยู่ที่11.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคเริ่มถดถอย ประกอบกับปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของจีนเดือน ก.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 46 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 22 ส.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.76 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.83% มาอยู่ที่ระดับ 10.43 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ6 สัปดาห์ เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Delaware City (182,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท PBF Energy Inc. ในสหรัฐฯ เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่หน่วย Fluid Catalytic Cracking (FCC: 65,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 58 ต้องหยุดดำเนินการอย่างน้อย 1 เดือน อีกทั้ง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่26 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.53 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.46 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.9-67.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก แอฟริกาใต้ชะลอการนำเข้าน้ำมันดีเซล เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาเดินเครื่อง หลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงตามแผน อาทิ โรงกลั่น Engen (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ประกอบกับ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซล ในเอเชียถูกกดดันจากปริมาณอุปทานที่ล้นตลาด ถึงแม้การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสิงคโปร์ จีนและอินเดีย รวมถึงการลดอัตราการกลั่นในภูมิภาคจะช่วยพยุงราคาเล็กน้อย นอกจากนี้ Kuwait National Petroleum Co. (KNPC) ของคูเวตแถลงโรงกลั่นน้ำมัน Shuaiba (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 58 หลังปิดซ่อมแซมจากเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อน ด้านปริมาณสำรองใน สิงค์โปร์ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น 2.28 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 13.54 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานอียิปต์ได้ตกลงเซ็นสัญญากับ Saudi Aramcoของซาอุดีอาระเบีย เพื่อซื้อน้ำมันดีเซลและน้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ปริมาณ 3.73 ล้านบาร์เรล และ 1.56 ล้านบาร์เรล ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ เดือน ก.ย. 58 ทำให้ปริมาณส่งออกของซาอุดีอาระเบียไปยังยุโรปและแอฟริกาลดลง อีกทั้ง โรงกลั่น Bukom ของ Shell (กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสิงคโปร์ เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 58 ขณะอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามแผน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.8-61.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล