กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อไม่ให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนลดหรืองดการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน รวมถึงใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าบนเกาะ สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีหมอกควันพัดปกคลุมทั่วพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดสตูล ภูเก็ต สงขลา ยะลา และนราธิวาส สถานการณ์ในภาพรวมปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ยังไม่เกินมาตรฐาน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่จึงช่วยคลี่คลายปริมาณหมอกควันให้เบาบางลง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์หมอกควันยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์หมอกควันอย่างใกล้ชิด และประสานตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสิ่งแวดล้อม หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงและปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ให้ออกประกาศเตือนภัย พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์หมอกควันให้ประชาชนทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดำเนินมาตรการคุมเข้มมิให้มีการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะการเผาริมทาง ในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อไม่ให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น ลดหรืองดการประกอบกิจกรรมที่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ ตลอดจนใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์หมอกควันและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในช่วงที่เกิดสถานการณ์หมอกควัน
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th