กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
Click into fields to type. For the title a maximum of 64 characters (including spaces) will be accepted by the wire services so please do not exceed this length.
Type text of press release after dateline below: please do not modify the font/format or exceed one page length.
ฟิทช์ เชื่อว่าความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ของธนาคารพาณิชย์ไทย มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่อาจส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์โดยรวมปรับตัวแย่ลง และส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในอีก 12 – 18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างธุรกิจที่กระจายตัวและมีความหลากหลายกว่า น่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้ดีกว่า และไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตมากนัก
สินเชื่อ SME เป็นสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประมาณ 39% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 (เทียบกับสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ 30% และ สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ 31%) สินเชื่อ SME มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงปี 2554-2556 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 14% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อ SME รายเล็กที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่า ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อ SME ได้เริ่มชะลอตัวลงอย่างมาก โดยมีอัตราการเติบโตเพียง 3.4% ในปี 2557 และ 3.7% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการเข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมยังคงไม่เอื้ออำนวยนัก โดยการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ตลาดการเงินยังคงมีภาวะผันผวน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็ยังคงซบเซา นอกจากนี้ระดับหนี้สินโดยรวมที่อยู่ในระดับสูง (อัตราส่วนหนี้สินของภาคเอกชนที่ 150% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558) สะท้อนถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่อาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว หากสภาวะแวดล้อมในการดำนเนินงานยังคงปรับตัวแย่ลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์ของลูกหนี้ SMEs ยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อ SME ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 มาอยู่ที่ 3.4% จาก 3.1% ณ สิ้นปี 2557 ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ Special Mention Loans ซึ่งคือลูกหนี้สินเชื่อที่ค้างชำระแต่ยังไม่จัดชั้นเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ 2.4% ทั้งนี้ฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์อาจจะยังไม่ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนนักในระยะสั้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างสินเชื่อและการที่ภาครัฐมีมาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME (เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือโครงการค้ำประกันสินเชื่อ) อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์อาจจะปรับตัวแย่ลงอย่างรวดเร็วได้ หากภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เริ่มทยอยสิ้นสุดลง
เนื่องจาก SME เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย ดังนั้นฐานะทางการเงินของลูกหนี้ SME จึงอาจมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างลูกหนี้สินเชื่อ SME ภายในแต่ละธนาคารและภายในอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งน่าจะมีความสามารถที่ดีกว่าในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าสินเชื่อ SME รายใหญ่และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่น้อยกว่า นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่โดยรวมยังมีโครงสร้างรายได้และโครงสร้างสินเชื่อที่กระจายตัวและหลากหลายกว่า และยังมีความสามารถในการรองรับเสี่ยงที่แข็งแรงกว่า
อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสมเหตุสมผล ในด้านของระดับเงินสำรองหนี้สูญและเงินกองทุน ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับปรกติตามวัฎจักรได้ โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ยของอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 136% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 14% นอกจากนี้สินเชื่อ SME โดยทั่วไปจะมีสัดส่วนมูลค่าหลักประกันในระดับที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กก็ยังมีการใช้การค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ เพื่อลดความเสี่ยง