กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง
พลังความไว้วางใจจากประชาชนไทยถึงรัฐบาลประยุทธ์ 3
(The Power of Trust in Government):
กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง พลังความไว้วางใจจากประชาชนไทยถึงรัฐบาลประยุทธ์ 3 (The Power of Trust in Government): กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,085 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 28-30 สิงหาคม 2558
ผลสำรวจการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 27.5 ระบุติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 63.2 ระบุติดตามบ้าง และร้อยละ 9.3 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ พบว่าร้อยละ 89.7 ระบุเชื่อว่าเป็นการปรับเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ รองลงมาคือร้อยละ 82.9 ระบุเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 81.9 ระบุเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ร้อยละ 80.8 ระบุเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร้อยละ 79.2 ระบุเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น นอกจากนี้ร้อยละ 78.3 ระบุเพื่อให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ร้อยละ 74.8 ระบุเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม และร้อยละ 70.3 ระบุเชื่อว่าเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อลดความขัดแย้งในการทำงานของรัฐบาล ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความเชื่อมั่นว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะสานต่อการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีชุดเดิมหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 78.9 ระบุเชื่อมั่น เพราะ เห็นว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินงานตามนั้น/จากข้อมูลเดิม จะทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด/เชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีว่าจะสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี และเห็นว่า น่าจะมีนโยบาย/มาตรการใหม่ๆ มาสานต่องานเดิมที่ยังทำไม่สำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชน ร้อยละ 21.1 ระบุไม่เชื่อมั่น เพราะเกรงว่าการทำงานจะไม่ต่อเนื่อง /อาจเกิดความขัดแย้งในการทำงาน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอาจแตกต่างกันทำให้ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดก็เป็นได้
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานตามโรดแม็ปของ คสช.ภายหลังที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.2 ระบุเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะ คณะรัฐมนตรีมีศักยภาพที่เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย/เชื่อว่าจะสามารถค้นหาข้อบกพร่อง/จุดอ่อนและนำมาปรับแก้ได้อย่างเหมาะสม และคิดว่านายกรัฐมนตรีคงตัดสินใจไม่ผิด/เชื่อมั่นในการตัดสินของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 11.8 ระบุลดความเชื่อมั่นลงเพราะ เกรงว่าการดำเนินงานจะไม่ต่อเนื่อง/จะทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชนล่าช้าออกไปอีก รวมถึงยังไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาหรือสถานการณ์ยุ่งยากอะไรขึ้นมาอีก
สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อภารกิจ 5 กลุ่มงานในนโยบายของรัฐบาลที่จะดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นพบว่า ในภารกิจด้านการดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และประชาชนผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 81.9 ระบุเชื่อมั่นว่าทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 18.1 ระบุไม่เชื่อมั่น ด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุน/การรักษาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พบว่า ร้อยละ 79.9 ระบุเชื่อมั่นว่าจะทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 20.1 ระบุไม่เชื่อมั่น ด้านการดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาคให้เข้มแข็ง พบว่า ร้อยละ 77.8 ระบุเชื่อมั่นว่าทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 22.2 ระบุไม่เชื่อมั่น ด้านการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ร้อยละ 75.5 ระบุเชื่อมั่นว่าทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 24.5 ระบุไม่เชื่อมั่น และด้านการยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนผู้ผลิตสินค้า และแข่งขันกับต่างประเทศ พบว่า ร้อยละ 69.9 ระบุเชื่อมั่นว่าทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุไม่เชื่อมั่น ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการสำรวจในครั้งนี้คือการสำรวจความไว้วางใจของประชาชนต่อบุคคล/องค์กรในสถาบันการเมือง ที่คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความไว้วางใจของแกนนำชุมชนโดยกำหนดให้ 0 คะแนนหมายถึง ไม่ไว้วางใจเลย และ 10 คะแนนหมายถึงมีความไว้วางใจมากที่สุด ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ความไว้วางใจของแกนนำชุมชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด เท่ากับ 8.66 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองมาคือ ความไว้วางใจต่อ คสช. ได้ 8.43 คะแนน ความไว้วางใจต่อนโยบายของรัฐบาล ได้ 8.14 คะแนน ความไว้วางใจต่อข้าราชการในพื้นที่ในการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ได้ 8.03 คะแนน ความไว้วางใจต่อ คณะรัฐมนตรี ได้ 8.01 คะแนน ความไว้วางใจต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ความไว้วางใจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ 7.70 คะแนน เท่ากัน ในขณะที่ความไว้วางใจต่อรัฐบาลโดยภาพรวมได้ คะแนนเฉลี่ย 8.23 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
จากคะแนนเฉลี่ยดังกล่าวส่งผลให้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อไปว่า จะยังคงให้ความไว้วางใจต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไปหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 80.1 จะยังคงให้ความไว้วางใจต่อไป (โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าได้ปกป้องสถาบันหลักของชาติอย่างเข้มแข็ง/ชอบสไตล์การทำงานของนายกรัฐมนตรี นายกฯ ทำงานจริงจัง ตั้งใจทำงาน/ประเทศชาติกำลังดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น/โปร่งใส เป็นกลาง ตรวจสอบได้ และรัฐบาลสามารถดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม) ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 16.7 ระบุไม่แน่ใจ (เพราะ...อยากรอดูไปก่อน ยังไม่ตัดสินใจ/การแก้ไขปัญหาบางอย่างยังไม่คืบหน้า/กฎหมาย และระเบียบต่างๆ เข้มงวดมากเกินไป และยังตัดสินใจไม่ได้ บางเรื่องก็ไว้วางใจ บางเรื่องก็ยังไม่ไว้วางใจ) ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 3.2 ระบุไม่ไว้วางใจแล้ว (เพราะ...ยังไม่เห็นผลสำเร็จของนโยบายใดเลย/ทำไม่ได้อย่างที่ประกาศไว้/ดูเหมือนสถานการณ์จะยิ่งแย่ลง)
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 87.2 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 12.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.9 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 34.2 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 58.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 35.6 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 46.1 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 12.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 76.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 14.7 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 9.1 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 16.9 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 21.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.0 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 37.6 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ