กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39 เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทำให้อัตราเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ร้อยละ 52 ซึ่งใกล้เคียงปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งส่วนของการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งภาคส่งออกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก
นอกจากนี้ กกร.ยังคงเฝ้าติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม โดย ในเบื้องต้นเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนที่เกิดเหตุการณ์จะลดลงราวร้อยละ 25 จากภาวะปกติ และสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 เดือน
อย่างไรก็ดี แพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้าสู่การพิจารณาของครม.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 คาดว่าจะมีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ชะลอไปมาก รวมทั้งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่มาก
กกร. สนับสนุนนโยบายการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ควรเปิดโอกาสให้มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือ รูปแบบ PPP และมีความโปร่งใสในการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน
กกร.กำลังจัดทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะสั้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลเร็วๆนี้ทั้งนี้ กกร. ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ /Ease of Doing Business เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ กฎระเบียบ ข้อปฏิบัติ และข้อกฎหมาย ในการทำธุรกิจการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรม การค้าและบริการ หรือคลัสเตอร์เป้าหมาย หากมีการปลอดล๊อกข้ออุปสรรค เหล่านั้นซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ก็จะเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุน การขยายธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และของประเทศโดยรวม
ตัวอย่างเช่น กรณีไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าจะส่งออกไปต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายๆไปนั้น ควรอนุญาตให้ไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีแหล่งที่มาชัดเจนและมีหลักฐานการนำเข้าที่ถูกต้อง สามารถส่งออกกลับไปได้ (re-export) ทั้งไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ ไม้ต้องเข้าเงื่อนไขเดียวกับไม้ในประเทศ และควรลดพิกัดอัตราพิกัดภาษีศุลกากรขาออกของไม้ ไม้แปรรูป จากเดิมร้อย 40 ให้เหลือร้อยละ 0 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้