กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอชี้ช่องทาง กางคัมภีร์ข้อมูลลงทุนไทยใน 5 ประเทศเป้าหมายในอาเซียน หลังพบกลุ่มประเทศ CLMVI เติบโตปีละกว่าร้อยละ 10 พร้อมระดมหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจาก 5 ประเทศ มาให้ข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมทุกรายละเอียดหวังกระตุ้นเอกชนไทยกระจายลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านรับมือการเปิดเออีซี
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา เสริมฐาน-สร้างโอกาส-ตลาดอาเซียน : โอกาสการลงทุนในตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซียซึ่งบีโอไอร่วมกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้นว่า บีโอไอได้รวบรวมข้อมูลด้านการลงทุน ของ 5 ประเทศเป้าหมาย ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือ CLMVI มาเผยแพร่โดยเป็นข้อมูลเชิงลึกด้านโอกาสการลงทุน อุปสรรคและปัญหา รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อให้นักลงทุนไทย มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้พบว่า ตลาดกลุ่มประเทศ CLMVI เป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงปีละ 10 % และมีการค้าเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 16 %ด้านการลงทุน นับตั้งแต่ปี 2553ถึงปี2556 มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในตลาด CLMVI กว่า 1.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐและเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 9 % ต่อปีโดยประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่หากพิจารณาจากการเติบโตของมูลค่าการลงทุน จะพบว่า เมียนมา และกัมพูชาเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด
ในด้านการลงทุน โอกาสและการลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศ CLMVIนั้น จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เหมาะเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์บริการและซ่อมบำรุง สำหรับอุตสาหกรรมอาหารควรเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปผลิตผลท้องถิ่น ธุรกิจร้านอาหารไทย ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มควรเข้าไปลงทุนโรงงานผลิตเส้นใย โรงงานทอผ้า ย้อมผ้า และโรงงานตัดเย็บ นอกจากนั้นตลาด CLMVI ยังมีจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานมากแต่มีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ นักลงทุนไทยจึงควรเข้าไปขยายฐานการผลิตและการบริการ เพราะเป็นการสร้างโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้
นอกจากนั้นบีโอไอได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากทั้ง 5 ประเทศจัดส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเข้าร่วมให้ความรู้ให้คำปรึกษา และแนะนำการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิดและยังจัดให้มีคลินิกให้คำปรึกษานักลงทุน การให้บริการคำแนะนำข้อควรรู้ด้านการเงินการธนาคาร จากผู้เชี่ยวชาญของสถาบันการเงินไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วยซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบข้อมูลสำคัญ และจำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศที่สนใจ รวมถึงทำความรู้จักกับผู้แทนในต่างประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำธุรกิจได้ต่อไป
"ผู้ประกอบการไทยที่จะประสบความสำเร็จในการไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากต้องรู้จักช่องทางในการทำธุรกิจ มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ๆ แล้ว สิ่งสำคัญยังต้องศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลให้รู้จริงในแต่ละประเทศไปพร้อมกันด้วย เช่น การรู้จักช่องทางในการทำธุรกิจ มีผู้ประสานงานและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ได้รับมอบอำนาจของท้องถิ่น ทำธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญหรือเลือกธุรกิจที่มีผู้แข่งขันน้อยราย ขณะที่ด้านเงินทุนควรมีแหล่งเงินทุนที่รองรับความผันผวนของธุรกิจได้ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางอาจต้องเกาะติดธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อช่วยประคับประคองไปสู่ความสำเร็จ เป็นต้น" นางหิรัญญากล่าว
สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในอนาคต (ปี 2559) บีโอไอมีแผนที่จะนำคณะนักธุรกิจไทยไปสำรวจลู่ทางการลงทุนรวมประมาณ 20 ครั้ง ส่วนใหญ่จะไปประเทศเป้าหมาย ซึ่งก็คือ กลุ่ม CLMVI