กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ
หนึ่งชีวิต...ก็มีความหมายการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์... ความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม"อโรคยา ปรมาลาภา" ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ
มนุษย์ทุกคนปรารถนาที่จะมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทว่าในความจริง เราไม่สามารถหนีพ้นการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ดังนั้นเราควรที่จะดูแลตัวเองให้ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญคือ ต้องไม่เครียด เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าหากต้องการมีสุขภาพที่ดีจะต้องทำอย่างไร แต่หลายคนกลับละเลย เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยขึ้นสารพัด รวมถึงโรคที่รักษาไม่หายอย่าง โรคตับแข็ง ซึ่งไม่มีทางรักษา แค่รอวันปลูกถ่ายตับ โรคเบาหวาน ที่ทุกคนคิดว่าการรักษาคือทำให้คุณหาย แต่ความจริงคือควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติเท่านั้น หรือแม้แต่ โรค SLE หรือโรคพุ่มพวง ที่ร่างกายมีแต่จะทรุดลง นอกจากนี้ ยังมีโรคอีกมากมายที่การแพทย์ยังไม่ทราบหนทางการรักษาหรือแม้กระทั่งสาเหตุของโรค
ในทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในมนุษย์มีมากมาย และนำไปสู่การรักษาจริงในคนไข้นับหมื่นงานวิจัย โดยอาศัยทฤษฎี "เซลล์ซ่อมเซลล์" คือ เซลล์ต้นกำเนิดจะเข้าไปซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติหรืออ่อนแอ และไปแทนที่เซลล์ในอวัยวะ ทำให้อวัยวะนั้นๆ กลับมาทำงานได้ตามปกติ
นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพสเต็มเซลล์ จำกัด กล่าวบนเวทีสัมมนาในโอกาสครบรอบ 5 ปี กรุงเทพสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นธนาคารฝากเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อ (Mesechymal Stem Cells ; MSCs) ที่ใหญ่ที่สุดและมีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทย ว่า "ความจริงทุกคนมีสเต็มเซลล์อยู่ในตัว การที่เรามีผมงอกอยู่ทุกวันก็เพราะมีสเต็มเซลล์อยู่ที่รากผม ที่ไขกระดูกก็มีสเต็มเซลล์เช่นกัน ทำให้เราผลิตเลือดใหม่ทุก 120 วัน ที่ข้อเข่าก็มีสเต็มเซลล์ เพราะฉะนั้น ตอนเด็กๆ เราไปกระโดดโลดเต้น เราจะไม่ปวดมาก เพราะสเต็มเซลล์มีอยู่ในข้อเข่าอยู่แล้ว คอยที่จะต่อเติมอยู่เสมอ ทำให้กระดูกอ่อนมันหนาตัวขึ้น"
"กลับกัน ตอนนี้ถ้าเราไปผ่ากระดูกเข่า ต้องใส่ไทเทเนียม ซึ่งอาจจะใช้ได้แค่ 10 ปี ต้องไปผ่าตัดใหม่ ขนาดเหล็กยังไม่สามารถที่จะทนแรงเราได้ แต่ว่าข้อเราอ่อนๆ กระดูกอ่อนๆ ของเราทำไมถึงได้ทนแรงเราได้ 30-40-50 ปี เหตุผลอย่างเดียวคือมีสเต็มเซลล์อยู่ในข้อ ทุกส่วนของร่างกายมีสเต็มเซลล์หมด
"ในกรณีที่คนไข้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เราก็หวังอย่างยิ่งและอยากให้เขามีกระดูกอ่อนของเขาเอง แทนที่จะไปเปลี่ยนข้อเข่า ซึ่งมีหลากหลายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดสเต็มเซลล์และคนไข้ที่ได้รับการรักษาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"โดยปกติ อะไรก็ตามที่คุณต้องการไปทดแทนอย่างเช่น พาร์คินสัน ตับแข็ง หัวใจตีบ ส่วนใหญ่คุณจะต้องใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองหมด เหตุผลคือ สเต็มเซลล์คนอื่นจะไปทดแทนเซลล์ของคนอื่นไม่ได้ กลับกัน โรคที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ เอสแอลอี โรครูมาตอยด์ สามารถใช้สเต็มเซลล์คนอื่นได้หมดเลย
"เช่นกัน ในกรณีที่เอาไปใช้ชะลอความแก่ ปัจจัยสำคัญที่สุดของการชะลอวัยก็คือ สเต็มเซลล์ เพราะ สเต็มเซลล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี กดการอักเสบได้ดีมาก เพราะฉะนั้น มันก็แล้วแต่ว่าจะเอา สเต็มเซลล์ไปใช้ทำอะไร ถ้าเอาไปชะลอวัยส่วนใหญ่จะใช้สเต็มเซลล์ของเด็กน้อย เพราะหลั่ง Growth factor ได้เยอะ สเต็มเซลล์ของคนอายุ 30-40 แล้ว อาจจะไม่ดีเท่าของเด็กน้อย" นายแพทย์วีรพล กล่าว
เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีกรุงเทพสเต็มเซลล์ บริษัทจะมอบสิ่งพิเศษสุดให้กับสังคม โดยเฉพาะปีนี้จะทำการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย ตัวเหลือง ตาเหลือง มีน้ำในช่องท้อง โดยใช้สเต็มเซลล์ของเขาเองมารักษาให้ฟรี ขอให้ผู้สนใจที่มีญาติหรือรู้จักใครที่เป็นโรคดังกล่าวสามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมงานวิจัยนี้ที่บริษัท กรุงเทพสเต็มเซลล์
สำหรับสถานการณ์สเต็มเซลล์ในประเทศไทยและทั่วโลก นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง กรรมการและประชาสัมพันธ์ สมาคมเซลล์บำบัดไทย ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์บำบัด กล่าวในงานเดียวกันว่า เป็นข่าวดีที่ตอนนี้แพทยสภาได้เปิดใจกว้างขึ้นที่จะรับฟังเรื่องสเต็มเซลล์ ซึ่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเรื่องการใช้สเต็มเซลล์โดยถูกหลักวิชาการ
"ในระดับสากล ประเทศแคนาดาเป็นประเทศแรกที่รับรองสเต็มเซลล์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2012 โดยได้ให้มหาวิทยาลัยออตตาวา University of Ottawa วิจัยว่าสเต็มเซลล์ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งนักวิจัยจาก ม.ออตตาวา ได้รีวิวงานวิจัย 1,093 รายงานทั่วโลก และสรุปเป็นประโยคสุดท้ายที่เด็ดมาก "Stem Cell is SAFE." สเต็มเซลล์ปลอดภัย "Stem cell has no tumor." สเต็มเซลล์ไม่เป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง ตามมาด้วยประเทศนิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้สเต็มเซลล์ถูกรับรองโดยถูกกฎหมาย ใช้โดยแพทย์ที่มีความรู้ได้เลยใน 3 ประเทศ
"ในเออีซี มีรัฐบาล 2 ประเทศที่ประกาศกำหนดให้โรงพยาบาลบางแห่งรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้ ในปี 2012 รัฐบาลมาเลเซียแต่งตั้งกัวลาลัมเปอร์ เป็นศูนย์สเต็มเซลล์แห่งแรกในเออีซี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2014 รัฐบาลอินโดนีเซีย อนุมัติให้โรงพยาบาล 11 แห่งรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ เออีซีเราก็เป็นผู้นำในด้านการรับรองสเต็มเซลล์
นายแพทย์สมนึก กล่าวอีกว่า ในระดับโลก ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่แข่งกัน คือ มหาวิทยาลัยเกียวโตกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งในปี 2012 ดร.ยามานากะกับดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่ และในปี 2009 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอพกินส์ก็ได้รับรางวัลสเต็มเซลล์ ซึ่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอพกินส์ระบุไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลกควรจะรีบเร่งศึกษาเรื่องสเต็มเซลล์นำมารักษาโรคที่คนไข้จะเสียชีวิต
"และเมื่อไม่นานมานี้เอง มหาวิทยาลัยเกียวโตประกาศว่า อย่าว่าแต่สเต็มเซลล์เลย เขาสามารถเอาเซลล์คนไปสร้างเป็นสเปิร์ม คือย้อนกลับไปเป็นสเปิร์มได้ เกิดเราอยากมีลูก แก่แล้ว ไม่มีไข่แล้ว ก็เอาเซลล์ตัวเองย้อนไปเป็นไข่ได้ ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังบอกว่าสเต็มเซลล์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ควรที่จะศึกษาวิจัยเพื่อนำมารักษาโรคให้กับผู้คน" นายแพทย์สมนึก กล่าวเสริม
ทั้งนี้ นายแพทย์สมนึกได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนหันมาให้ความสนใจในเรื่องการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ก็เนื่องจากตนและครอบครัวรู้จักสนิทสนมกับแม่ค้าร้านขายอาหารรายหนึ่ง เมื่อสิบกว่าปีก่อน ต่อมาพบว่าแม่ค้ารายนี้ป่วยเป็นโรคหนังแข็ง ไม่มีทางรักษา แม้ตัวเองจะเป็นหมอก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ จึงเกิดความคิดว่าจะต้องพยายามหาทางรักษาคนไข้ลักษณะนี้ให้ได้ เวลาต่อมามีคนไข้จากจังหวัดเลยป่วยเป็นโรคเดียวกัน เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2551 ตนได้ค้นคว้าข้อมูลจากงานวิจัยก็พบรายงานหนึ่งเล็กๆ ประมาณ 10 บรรทัด บอกว่า มีคนไข้ฉีดสเต็มเซลล์ชนิดมีเซนไคมอล แล้วรอดชีวิต
"สเต็มเซลล์สามารถรักษาโรคนี้ได้ จึงได้ให้นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บซึ่งเป็นเพื่อนกันเอาเนื้อเยื่อสายสะดือมาคัดแยกสเต็มเซลล์ให้ ซึ่งคนไข้ก็บอกว่าในเมื่อไม่มีโอกาสแล้ว รอแต่เสียชีวิตอย่างเดียว ก็เลยตัดสินใจฉีดสเต็มเซลล์ ปัจจุบันนี้ก็ยังฉีดอยู่ 7 ปีมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ ทีนี้พอเจอเคสนี้ ปรากฏว่า หมอก็เริ่มมั่นใจ จนมีคนไข้ที่ฉีดสเต็มเซลล์ 3 ราย ที่ฉีดแล้วรอดชีวิต ถ้าไม่ฉีด ไม่รอด
นี่คือคำถามว่า ทำไมหมอถึงมาผลักดันให้ใช้สเต็มเซลล์ เหตุผลก็เพราะว่าอยากให้คนไข้รอดชีวิต เพราะทุกคนมีประโยชน์และมีความหมายต่อครอบครัวหมด