กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
ก.พลังงาน เผย สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ชี้หลายประเทศยังคงพึ่งพาถ่านหิน แม้เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาติสูงกว่าไทย มั่นใจแผน PDP 2015 เน้นกระจายแหล่งเชื้อเพลิง สร้างความมั่นคงการจัดหา และส่งเสริมพลังงานทดแทน ช่วยไทยลดความเสี่ยงความมั่นคงไฟฟ้าในอนาคต
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางพิจารณาการวางแผนการใช้และการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว หรือการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558–2579 (PDP 2015) ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องเร่งผลักดันให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยประเด็นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องพิจารณาเพิ่มทางเลือกเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึง 65% ซึ่งพบว่าจะเกิดความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้แก่ประเทศอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมของตนเอง และมีแหล่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูง จะสังเกตได้ว่า ประเทศมาเลเซีย มีการใช้ถ่านหิน ในสัดส่วนสูงถึง 42% ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสูงถึง 59% นอกจากนี้ประเทศฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านของไทยอีกประเทศ ก็ยังมีการใช้ถ่านหินสูงถึง 47% เป็นต้น ขณะที่ในแผน PDP 2015 ได้กำหนดให้ใช้ถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนประมาณ 20 – 25% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้ถ่านหิน 19% หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ ภายใต้แผน PDP 2015 นี้ ยังได้ส่งเสริมสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้วสูงถึง 20% แต่ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่จะไม่สามารถเป็นพลังงานหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จึงยังจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงทางเลือกเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในปัจจุบัน สามารถควบคุมมลภาวะและจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ทำได้เกินกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด โดยเฉพาะการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์นั้น สามารถลดลงได้สูงถึง 33% เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีเดิม รวมทั้งถ่านหิน ยังถือเป็นเชื้อเพลิงที่ราคามีเสถียรภาพและไม่แพงเพราะมีปริมาณสำรองสูงสามารถใช้ได้ถึง 200 ปี ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้สูงถึงปีละ 9,000 ล้านบาท
"หากดูจากสัดส่วนการเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเรา อย่างมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย จะเห็นได้ชัดว่า ทางเลือกถ่านหินยังเป็นทางเลือกหลักของประเทศเหล่านี้ แม้แต่ประเทศที่มีสำรองปิโตรเลียมมากกว่าเราทั้งสองประเทศ ซึ่งการตัดสินใจเพิ่มทางเลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงนั้น น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศไทย ในการลดความเสี่ยงด้านการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงในอนาคต" นายชวลิตกล่าว