กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--Visage Consult
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บเร่งยกร่างโรดแมพ 5 ปีเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน (MICE SustainabilityThailand) ผลักดันประเทศไทยศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ยั่งยืนชั้นนำ นำร่องโครงการสัมมนา MICE Sustainability Forum 2015 เชิญกูรูจาก UNGC และนักธุรกิจระดับแนวหน้าของไทยและต่างประเทศ ร่วมแบ่งปันมุมมอง แนวคิด วิถีทางสร้างความเป็นผู้นำทางธุรกิจด้วยระบบบริหารจัดการอย่างยั่งยืน แก่ผู้ประกอบการไมซ์ไทยกว่า 150 ราย
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้ดำเนินการยกร่างแผนแม่บทด้านการจัดการอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) โดยมุ่งหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ยั่งยืนชั้นนำของโลกด้วยนโยบายด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
"แผนแม่บทนี้ดำเนินการสอดคล้องกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ การพัฒนารูปแบบของแผนการดำเนินงานและกิจกรรมที่มุ่งการใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กอปรกับการกำหนดแผนส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ไทยให้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และแนวทางที่ชัดเจนในการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรของตนเอง สร้างผลกำไร และสร้างภาพลักษณ์องค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม"
การพัฒนารูปแบบและกรอบการจัดทำแผนแม่บทด้านการจัดการอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย 1. การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วางกลยุทธ์ ส่งเสริมและกำกับดูแล 2. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานพันธมิตร และภาคประชาชน 3.การสร้างระบบบริหารจัดการอย่างยั่งยืนภายในองค์กรของทีเส็บ ผ่านรูปแบบการบูรณาการกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ในองค์กร
ตามโรดแมพ 5 ปีนี้แบ่งแผนการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 (ปี 2559) ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ และพัฒนาแผนงานต่างๆ เริ่มจากจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนแห่งชาติ (National Sustainable Destination Committee) และร่วมกับภาคีหลัก กระทรวงต่างๆ สมาคม องค์กร ผู้ประกอบการด้านไมซ์ ร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการจัดทำระบบบริหารจัดการอย่างยั่งยืนภายในองค์กรทีเส็บ การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดและช่องทางสื่อสารการตลาดสู่กลุ่มเป้าหมายการพัฒนาคู่มือแนวทางปฏิบัติงานเพื่อความยั่งยืน อาทิ การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฯลฯ
ระยะที่ 2 (ปี 2560) จะมุ่งสร้างการรับรู้และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เน้นการแสวงหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับพัฒนาโปรแกรมฝึกอบรม
ระยะที่ 3 (ปี 2561) เน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างความแตกต่างให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ชูมาตรฐานการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างเวทีความร่วมมือในระดับเอเชียผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศ (International Advisory Board)
ระยะที่ 4 (ปี 2562-2563) นั้นจะเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายในการกำกับดูแลและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยผ่านการรับรองในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์อย่างยั่งยืนจากสภาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) โดยในส่วนของทีเส็บ ตั้งเป้าว่าองค์กรจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดงานอย่างยั่งยืน หรือ ISO 20121 ทั้งนี้การดำเนินงานในทุกระยะนั้นทีเส็บดำเนินงานร่วมกับภาคีอุตสาหกรรมด้านการสร้างไมซ์อย่างยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ
"เพื่อเป็นการนำร่องการดำเนินโครงการ ทีเส็บได้จัดโครงการสัมมนา MICE Sustainability Forum 2015 เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอมุมมอง แนวคิด และหลักการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์กว่า 150 คน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการจัดงานนี้จะสามารถจุดประกายความสนใจ และเป็นการสร้างแรงผลักดันให้กับทุกภาคส่วนในการร่วมบูรณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศไทยในการเป็นฮับของการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน นายนพรัตน์ กล่าวสรุป