กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ประกาศผลผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 6 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผลงานที่ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพของเส้นใยกล้วย (ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์) และการศึกษาผลของนาโน ZnO ต่อน้ำหมักไข่และเมือกหอยเชอรี่ในการกำจัดเพลี้ยแป้ง (ด้านนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน) ส่วนในระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้แก่ สโตนแวร์โปร่งแสง (ด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์) และการพัฒนากระบวนการอัดมุมช่องเท่ากันเพื่อผลิตโลหะผสมที่มีโครงสร้างจุลภาคในระดับนาโนเมตร (ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์) ทั้งนี้ การประกวดดังกล่าวถือเป็นการสานต่อกิจกรรมการอบรมด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่มีความต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านนาโนเทคโนโลยีแก่สู่ชุมชนท้องถิ่น และเยาวชนไทย เพื่อนำนาโนเทคโนโลยีเหล่านั้นไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้เยาวชนไทยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคตสำหรับกิจกรรมการประกาศผลการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 6 ได้จัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000 ต่อ 3075, 2135 หรือเข้าไปที่ www.nano.kmitl.ac.thผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชิต จารุวนาวัฒน์ คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นศาสตร์ใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ซึ่งทางวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา นาโนเทคโนโลยี อันจะเป็นประโยชน์ต่อวิถีการดำรงชีวิตพื้นฐานของมนุษย์ วิทยาลัยนาโนฯ จึงได้จัดให้มีการอบรมด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านนาโนเทคโนโลยีแก่ครูในระดับมัธยมศึกษา พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษานาโนเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างสรรค์โครงการเพื่อถ่ายองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ภาคชุมชนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดตั้ง "หมู่บ้านนาโนเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง" ในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงมีการจัดการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย และเพื่อผลักดันการพัฒนางานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี อันจะสามารถต่อยอดโครงการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคมอย่างสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.จิติ หนูแก้ว ที่ปรึกษาคณบดี วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในปี 2558 วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้จัดการประกวดนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา กับระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ในส่วนประเภทของรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และด้านนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งโครงงานนาโนเทคโนโลยีเข้าประกวดรวมกว่า 100 ผลงาน ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสังคม โดยผลงานที่ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพของเส้นใยกล้วย (ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์) และการศึกษาผลของนาโน ZnO ต่อน้ำหมักไข่และเมือกหอยเชอรี่ในการกำจัดเพลี้ยแป้ง (ด้านนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน) ส่วนในระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้แก่ สโตนแวร์โปร่งแสง (ด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์) และการพัฒนากระบวนการอัดมุมช่องเท่ากันเพื่อผลิตโลหะผสมที่มีโครงสร้างจุลภาคในระดับนาโนเมตร (ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์)นางสาวสุรีย์พร ตรีเพชรประภา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ตัวแทนกลุ่มเจ้าของผลงาน"การพัฒนาคุณภาพของเส้นใยกล้วย" กล่าวว่า เส้นใยกล้วยหรือ เชือกกล้วยเป็นของเหลือใช้ที่หาได้ตามชุมชนทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเชือกกล้วยถูกปล่อยไว้ให้โดนแสงแดด และความร้อนตามภูมิอากาศของประเทศไทย ก็จะมีสภาพเปราะบาง และหักง่าย แต่เมื่อได้ลองทำการศึกษาก็พบว่า สารนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ และคาร์บอนิล จะช่วยเสริมให้เชือกกล้วยมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถนำมาถักสาน เกิดเป็นงานฝีมือที่สวยงาม อาทิ ดอกไม้ประดับ หมวก ชุดสำหรับตุ๊กตา ที่รองภาชนะ ฯลฯ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยนี้จะไม่ลามไฟ และยับยั้งการเกิดราได้ถึง 98% นับเป็นนำของเหลือจากธรรมชาติมาใช้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้นางสาวกุลนิษฐ์ ดวงเนตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนร่มเกล้าสกลนคร ตัวแทนกลุ่มเจ้าของผลงาน "การศึกษาผลของนาโน ZnO ต่อน้ำหมักไข่และเมือกหอยเชอรี่ในการกำจัดเพลี้ยแป้ง" กล่าวว่า ไข่และเมือกหอยเชอรี่มีพิษที่สามารถกำจัดเพลี้ยแป้งได้ แต่หอยเชอรี่จะมีเฉพาะในฤดูฝน ดังนั้นชาวบ้านจึงมีการหมักไข่หอยเชอรี่เอาไว้เพื่อให้มีใช้กำจัดเพลี้ยแป้งตลอดปี แต่ติดข้อจำกัดที่ว่าระหว่างกระบวนการหมักนั้นจะเกิดจุลินทรีย์และหนอน ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นเน่า เราจึงหยิบมาเป็นกรณีศึกษา โดยเมื่อนำสารนาโนซิงค์ออกไซด์มาผสมในการหมักไข่หอยเชอรี่ พบว่าสามารถยับยั้งการเกิดจุลินทรีย์อันเป็นต้นตอของกลิ่นไม่พึงประสงค์ อีกทั้งเมื่อนำน้ำหมักไข่หอยเชอรี่ที่มีสารนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมอยู่ไปฉีดบนพืชเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง ก็ยังก่อให้เกิดผลพลอยได้คือการเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช อันเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของซิงค์ออกไซด์นายอนิรุทธิ์ รักสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน "สโตนแวร์โปร่งแสง" กล่าวว่า สโตนแวร์หรือ ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ทำจากดินที่นำมาขึ้นรูปแล้วเผาในอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส โดยมักใช้เป็นจานชาม แก้วน้ำ แจกัน ฯลฯ แต่เมื่อทดลองน้ำดินมาบดเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ให้มีความละเอียดในระดับนาโน แล้วนำดินที่ได้หรือ เรียกอีกอย่างว่า "ดินนาโน" มาผสมเข้ากับดินปกติในสัดส่วน 1 : 4 ก่อนเข้าสู่กระบวนการขึ้นรูปและเผาต่อไป กลับก่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีคุณสมบัติโปร่งแสง นับเป็นครั้งแรกของโลกที่เปลี่ยนนิยามของสโตนแวร์ไป จากที่ปกติต้องทึบแสงและเคยใช้เป็นเพียงภาชนะ ก็สามารถยกระดับมาสู่การเป็นของประดับบ้านอย่างโคมไฟได้ อีกทั้งการผสมดินนาโนยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาลง ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้นางสาวชลลดา ดำรง นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน "การพัฒนากระบวนการอัดมุมช่องเท่ากันเพื่อผลิตโลหะผสมที่มีโครงสร้างจุลภาคในระดับนาโนเมตร" กล่าวว่า โดยปกติแล้วการผลิตโลหะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม โลหะจะถูกบีบอัดออกมาแบบตรงๆ ทำให้ความแข็งแรงของโลหะแต่ละด้านค่อนข้างแตกต่างกัน แต่สำหรับผลงานนี้ ถือเป็นการออกแบบการอัดโลหะแบบใหม่เพื่อให้โลหะที่ได้ออกมามีความความแข็งแรงในแต่ละด้านเท่ากันมากขึ้น ด้วยการกระจายโครงสร้างจุลภาคในระดับนาโนเมตรของโลหะไปในทุกๆ ทิศทางอย่างใกล้เคียงกัน โดยจากผลการทดสอบพบว่าโลหะที่ผ่านการกระบวนการบีบอัดมุมช่องเท่ากันนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นถึง 200 กว่าเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กระบวนการบีบอัดมุมช่องเท่ากันยังสามารถทำได้ในอุณหภูมิห้อง เทียบกับการบีบอัดปกติที่มักใช้อุณหภูมิสูง จึงสามารถลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก หากในอนาคตมีการพัฒนาต่อไปให้สามารถใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อาจนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่มีความจำเพาะ และต้องการความแข็งแรงของโลหะสูงอย่างอุตสาหกรรมเครื่องบินหรือ ยานยนต์ เป็นต้นทั้งนี้ กิจกรรมการประกาศผลการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 6 ได้จัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000 ต่อ 3075, 2135 หรือเข้าไปที่ www.nano.kmitl.ac.th