กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(วันที่ 2 กันยายน 2558) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อติดตามนโยบายการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยการกระตุ้นการค้าการลงทุนบริเวณแนวชายแดน และนโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (SOCIAL BUSINESS) ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่เป็นองค์กรของภาคการเกษตรที่รวมตัวกันโดยไม่แสวงหาผลกำไรสูงสุด พัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ กระจายสู่ผู้บริโภคอย่างกว้างขวางในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม โดยใช้วิธีการสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ต้นแบบในเขตชายแดน ที่ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม(SOCIAL BUSINESS)โดยวิธีการสหกรณ์ และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนโดยรอบในเขตนิคมสหกรณ์แม่สอดได้เป็นอย่างดี รวมถึงความสำเร็จในการเชื่อมโยงธุรกิจแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าการเกษตรกับประเทศเมียนมา ภายใต้ความสัมพันธ์ในลักษณะของบ้านพี่เมืองน้อง
โอกาสนี้ นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้นำชมนิทรรศการของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด ที่ได้จัดแสดงเพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งในรูปแบบสหกรณ์และการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม (SOCIAL BUSINESS) ภายใต้ชื่อ "แม่กาษาโมเดล" ใช้สหกรณ์เป็นแกนกลาง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม (SOCIAL BUSINESS) มุ่งเน้นให้สหกรณ์เป็นแกนกลาง โดยให้กลุ่มต่าง ๆ ทั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ SME และกลุ่มกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ในลักษณะการเชื่อมโยงทางการค้า ตลาดชุมชน ท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นๆที่สามารถสร้างรายได้ กระจายรายได้ และการพัฒนาอาชีพ โดยมีสถาบันการเงินต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือหากกลุ่มมีความพร้อมอาจยกระดับจัดตั้งเป็นสหกรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เพื่อการได้รับสิทธิ ลดหย่อน ผ่อนปรนตามเงื่อนไข
การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบสหกรณ์ ดำเนินการตั้งแต่การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของสมาชิกเกษตรกร และนำผลกำไรส่วนหนึ่งไปขยายการลงทุน เช่น การขยายธุรกิจในลักษณะแปรรูปและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น และกำไรอีกส่วนหนึ่งจัดสรรคืนสู่สังคม ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน โดยประชาชนในชุมชนมีส่นร่วม สร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยสนับสนุนการรวมกลุ่ม เพื่อขยายฐานความเข้มแข็ง และกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านสังคม
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดำเนินการทั้งการเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเพิ่มรายได้จะเริ่มตั้งแต่การผลิตสินค้าการเกษตร มีการวางแผนการปรับปรุงบำรุงดิน การบริหารจัดการน้ำ การคัดเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของประเทศ รวมถึงการนำนโยบายการบริหารพื้นที่แปลงใหญ่มาดำเนินการ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
เมื่อมีการผลิตที่มีคุณภาพแล้วสหกรณ์จะเป็นผู้ประสานบริหารจัดการการเก็บเกี่ยว ประสานงานการค้าชายแดนจัดการผลผลิต ที่มีผลกระทบกับราคาภายในประเทศควบคู่กับข้อกำหนดของภาครัฐและวางแผนการจัดการด้านผลผลิตให้สอดคล้องกับระยะเวลา จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพและแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างอำนาจในการต่อรองราคา ก่อนจะส่งจำหน่ายไปยังสหกรณ์ผู้ใช้สินค้าเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงไข่ไก่ โคนม สุกร และส่งต่อไปยังโรงงานอาหารสัตว์และการส่งออกต่อไป
สำหรับการส่งเสริมเรื่องการลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด้านอุปโภคบริโภค สหกรณ์จะใช้ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมกระจายสินค้า จาสหกรณ์ผู้ผลิตส่งต่อไปให้สหกรณ์ผู้ใช้ และกระจายสู่สมาชิกและชุมชน ส่วนในด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จะซื้อจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ภายใต้พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์พืช พ.ร.บ.ปุ๋ยและยา และพ.ร.บ.วัตถุมีพิษ ภายใต้การควบคุมของกรมวิชาการเกษตร
การพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรม ยึดหลัก สห บวร โดยพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาอาชีพ การออม การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาพื้นบ้าน การดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่าชุมชน พืชพันธุ์ไม้ประจำถิ่นให้เกิดความสมบูรณ์ปลอดภัย ใช้สอยผลิตผลจากป่าและผลพลอยได้ เช่น การปลูกข้าวที่มีความปลอดภัยในชุมชน เพื่อการบริโภค
การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งในรูปแบบสหกรณ์ "แม่กาษาโมเดล" จึงเป็นการพัฒนาตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสหกรณ์แบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนในสังคมและชุมชนในอนาคตต่อไป