เทรนด์ ไมโคร เผยเทคนิคป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ในช่วงเทศกาลวันหยุดอย่างไร้กังวล

ข่าวเทคโนโลยี Friday December 16, 2005 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ ผู้นำซอฟต์แวร์และการบริการด้านการป้องกันไวรัส และระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เผยเทคนิคไร้กังวล (Worry-Free tips) ประจำปี สำหรับบรรดาผู้ใช้คอมพิวเตอร์คนไทยที่มีแผนเดินทางไกลและกลับจากพักผ่อนในช่วงเทศกาล
นายรัฐสิริ ไข่แก้ว ผู้จัดการประจำประเทศ บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เราได้เผยแพร่เทคนิคไร้กังวลประจำปีแก่สาธารณชนมาแล้วเป็นเวลาสองปี และเรามีความยินดีที่ชาวไทยจำนวนมากขึ้น เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความใส่ใจคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเป็นพิเศษเมื่อต้องอยู่ห่างเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เพราะมีความเป็นไปได้ที่คอมพิวเตอร์จะถูกโจมตีเมื่อพวกเขากลับมาพักผ่อนในวันหยุด”
“ในปีนี้ เราพบว่ามีการติดไวรัสคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงสามเดือนที่แล้ว จำนวนการติดเชื้อในเอเชียมีกว่า 5 ล้านเครื่อง มากกว่าในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน หรือมกราคม-มีนาคมของปีนี้ถึงสองเท่า เห็นได้จากไวรัสเครือข่ายที่ชื่อว่า โซท็อป ซึ่งใช้ช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์โจมตีคอมพิวเตอร์ และเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกในช่วงกลางเดือนสิงหาคม หลังจากเป็นตัวการทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น, เอบีซี และนิวยอร์ก ไทม์ส และอื่นๆ ใช้การไม่ได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์เหล่านั้นไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมซ่อมแซมช่องโหว่ดังกล่าว”
“ฟิชชิ่ง และสปายแวร์ ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะมีภัยคุกคามอีกอย่างที่กำลังเติบโตเรื่อยๆ ได้แก่ ไวรัสมือถือ ซึ่งพุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้โทรศัพท์อัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฟน โดยในปีนี้มีไวรัสมือถือเกิดใหม่แล้ว 14 ตัว เมื่อเทียบกับ 6 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ไม่รวมตัวกลายพันธุ์ของไวรัสมือถือที่มีอยู่เดิม เช่น ไวรัสมือถือ SYMBOS_SKULLS ได้มีการพัฒนา สายพันธุ์ออกมามากจนถึงเวอร์ชั่นที่ 15 แล้ว โดยเฮาส์คอลล์ (www.trendmicro.com/housecall) บริการกำจัดและตรวจหาไวรัสออนไลน์ฟรีของบริษัท เทรนด์ ไมโคร รายงานว่า SYMBOS_QDIAL.A ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 และมีเหยื่อติดเชื้อในเอเชีย 1,155 ราย ซึ่งเป็นชาวไทย 145 ราย แม้จะมีจำนวนน้อยอยู่ แต่จากแนวโน้มที่เห็น เราคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้เขียนไวรัสจะไม่หยุดพัฒนาและขยายขีดความสามารถของเครื่องมือชั่วร้ายนี้”
แนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ เทรนด์ ไมโครต้องปรับปรุงข้อแนะนำพื้นฐาน 10 ประการ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากไวรัสและภัยคุกคาม ทั้งในระหว่างและหลังจากเทศกาลในวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ:
ก่อนออกเดินทาง
1. สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ที่ไม่ต้องการพลาดการติดต่อระหว่างเดินทางในช่วงวันหยุด ต้องป้องกันตัวเองจากไวรัสมือถือ ที่รู้กันดีว่าเป็นต้นเหตุให้โทรศัพท์แฮงก์ ต้องปิดและเปิดเครื่องใหม่ ส่งเอสเอ็มเอส/เอ็มเอ็มเอสโดยที่เจ้าของไม่รู้ หรือทำให้โปรแกรมอื่นๆ ในเครื่องทำงานรวน แถมยังแอบลบไฟล์ในเครื่อง และอื่นๆ อีกมากมาย ข้อแนะนำเบื้องต้นให้ผู้ใช้ติดตั้งโซลูชั่น Trend Micro Mobile Security ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.trendmicro.com/mobilesecurity โซลูชั่นดังกล่าวสามารถป้องกันกองทัพเอสเอ็มเอส/เอ็มเอ็มเอส ที่สามารถส่งผ่านจากมือถือเครื่องอื่นๆ ที่มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าระบบควบคุมสแปมอาจหละหลวมอยู่
สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ต้องมั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ของตัวเองติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยล่าสุด เช่น Trend Micro PC-cillin Internet Security แล้ว เพราะผู้ใช้หลายคนไม่รู้ว่า ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสของตัวเองเก่าเก็บแล้ว และอาจไม่สามารถป้องกันสปายแวร์/แอดแวร์, ฟิชชิ่ง และตรวจจับการบุกรุกไร้สายได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันพีซีจากภัยคุกคามทุกชนิด
2. ก่อนไปพักผ่อนในวันหยุด ควรดาวน์โหลดโปรแกรมซ่อมแซมช่องโหว่ล่าสุดมาติดตั้งลงในระบบปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อไม่ให้ภัยคุกคามจากไวรัสเครือข่ายทั้งหลายใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้น เพราะนี่จะเป็นอันตรายอย่างที่สุด หากคอมพิวเตอร์ถูกเปิดทิ้งไว้ ขณะที่เจ้าของไม่อยู่ในช่วงวันหยุดยาว
3. เนื่องจากไวรัสถูกสร้างขึ้นมาด้วยเวลาอันสั้น โดยเฉพาะไวรัสเครือข่าย ผู้ที่จะไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด ไม่ควรทิ้งให้คอมพิวเตอร์ และ/หรือจุดเชื่อมต่อไร้สาย (แอคเซสพอยท์) เปิดให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่เพียงแต่เปลืองไฟเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้วายร้ายในโลกมืดที่กำลังมองหาช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายที่มีระบบป้องกันที่หละหลวม หรือไม่ได้ป้องกันเลย โดยแฮคเกอร์จะใช้การเชื่อมต่อฟรีเหล่านี้ไปกระทำการในทางไม่ดีต่างๆ ยิ่งกว่านั้น นอกจากไวรัส จะสามารถอัพเดทตัวเองโดยอัตโนมัติ ขณะที่เครื่องเปิดอยู่ได้ เวิร์มเครือข่ายตัวใหม่ เหมือนอย่าง แซสเซอร์ และโซท็อป ยังสามารถแพร่ติดคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมซ่อมแซมช่องโหว่ล่วงหน้า แม้ว่าขณะนั้นเจ้าของคอมพิวเตอร์จะไม่ได้กำลังใช้งานอยู่ก็ตาม
4. ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ไม่สามารถหาสิ่งไหนมาทดแทนได้ การเดินทางไปพักผ่อนเป็นเวลานาน คุณควรดาวน์โหลดไฟล์รักษาความปลอดภัยเวอร์ชั่นล่าสุดมาติดตั้งในเครื่อง และตรวจสอบระบบทั้งหมดก่อนจะสำรองข้อมูลสำคัญๆ ไว้ในแผ่นซีดี
ระหว่างวันหยุดพักผ่อน
5. ผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์บลูทูธ ให้ตั้งค่า “auto-discover” เป็น OFF เพื่อป้องกันแฮคเกอร์ และอุปกรณ์มือถือของคุณ รับไวรัสผ่านทางบลูทูธ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน แม้ยังไม่รู้แน่ว่า สามารถติดเชื้อจากโทรศัพท์ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนได้หรือไม่ แต่การเปิด “auto-discover” ในสถานะ ON มีสิทธิ์โดนรบกวนจากข้อความจำนวนมากที่หลั่งไหลมาจากอุปกรณ์บลูทูธที่ติดไวรัส ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ได้
สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ควรตรวจสอบไฟล์ป้องกันล่าสุด เช่น Trend Micro Mobile Security ซึ่งสามารถอัพเดทได้ผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านทางบริการจีพีอาร์เอส
6. คอยรับฟังข่าวสารที่แพร่ภาพผ่านทางโทรทัศน์ทั่วโลก ว่ามีการเตือนภัยการแพร่ระบาดของไวรัสตัวสำคัญๆ หรือไม่ รวมทั้งแจ้งเพื่อนฝูง และเครือญาติที่กลับไปถึงบ้านแล้ว ให้ช่วยโทรศัพท์หรือส่งเอสเอ็มเอสมาเตือนภัยเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว เพราะจะเป็นประโยชน์กับคุณอย่างมาก เมื่อถึงเวลากลับจากท่องเที่ยวในวันหยุดแล้ว
7. สำหรับผู้ที่ชอบท่องอินเทอร์เน็ตตามร้านให้บริการอินเทอร์เน็ตในช่วงวันหยุด ต้องมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้วว่า ร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านั้น มีระบบป้องกันความปลอดภัยเข้มแข็งเพียงพอ ไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมออนไลน์ที่ต้องพิมพ์ข้อมูลส่วนตัวใดๆ เช่น รายละเอียดของบัตรเครดิต
เมื่อกลับจากท่องเที่ยว
8. หลังจากกลับมาถึงบ้านแล้ว ผู้ใช้ไม่ควรทำกิจกรรมอินเทอร์เน็ตใดๆ หรือเริ่มใช้งานอีเมล์ จนกว่าจะดาวน์โหลดและอัพเดทไฟล์ไฟล์ป้องกันเวอร์ชั่นล่าสุดมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ก่อน
9. ให้ปฎิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยพื้นฐาน เช่น
- ระวังอีเมล์ที่มาในรูปของบัตรอวยพร อีเมล์แจ้งข่าวซุบซิบหรือมีภาพของดาราสุดเซ็กซี่ อีเมล์แจ้งซอฟต์แวร์ฟรี หรือข้อเสนอที่ดูดีและสมจริง เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอีเมล์สแปม ซึ่งสามารถใช้ชื่ออีเมล์ปลอม หรือชื่อคุ้นเคยที่หาได้จากสมุดที่อยู่ของคุณ หรือของเพื่อนด้วยเทคนิคหรือเครื่องมืออื่นๆ
- แม้ว่าอีเมล์ที่ได้รับจะเป็นของจริง และซอฟต์แวร์แนบท้ายมาด้วยนั้น จะถูกตรวจสอบแล้วว่าไม่มีไวรัส เจือปน แต่ควรอ่านข้อตกลงการใช้งาน (end-user licence agreement : EULA) อย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะไม่ทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณได้รับสปายแวร์ หรือแอดแวร์ หากมีข้อสงสัย เข้าไปได้ที่ www.trendmicro.com/spyware-scan เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมตรวจหาและกำจัดสปายแวร์
- ไม่มีธนาคารแห่งไหน จะขอให้ใครกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต รหัสเอทีเอ็ม รหัสผ่าน และอื่นๆ ผ่านทางอีเมล์ ดังนั้นหากคุณได้รับอีเมล์ในลักษณะดังกล่าว ควรติดต่อกับทางธนาคารเพื่อแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้รับทราบ หากไม่แน่ใจ เพื่อความปลอดภัยให้ลบอีเมล์ฉบับนั้นทิ้ง เพราะหากเป็นเรื่องสำคัญจริง ธนาคารจะโทรหาคุณเองในภายหลัง
10. เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ข้อแนะนำสุดท้าย ก็คือ คุณต้องมั่นใจว่าได้ทำตามทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เพราะนั่นจะเป็นแนวป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ของคุณให้ปลอดภัยอย่างไร้กังวล
บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์
บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์และการบริการด้านการป้องกันไวรัสบนเครือข่าย และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมีหน่วยธุรกิจอยู่ทั่วโลก สำหรับผลิตภัณฑ์ของเทรนด์ ไมโคร ได้จำหน่ายไปยังองค์กรธุรกิจ ตัวแทนจำหน่ายแบบมูลค่าเพิ่ม และผู้ให้บริการสนใจข้อมูลและชุดทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์จากเทรนด์ ไมโครได้ที่ เว็บไซต์ www.trendmicro.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร. 02-439-4600 ต่อ 8300
srisuput@corepeak.com--จบ--

แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ