กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต
เศรษฐกิจไทยหลัง สปช ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อช่วยลดความขัดแย้งเผชิญหน้าในช่วงลงประชามติ และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาทส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมเฉพาะหน้า การออกแบบให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเข้มแข็งและมีที่มาเป็นประชาธิปไตยจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจในระยะยาว ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชุดใหม่วงเงิน 1.3 แสนล้านบาทน่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีและช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาและจัดการรักษาความปลอดภัยหลังการก่อความรุนแรงสี่แยกราชประสงค์ทำให้ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมีจำกัดและรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะกลับสู่ภาวะปรกติได้ส่งผลบวกทางเศรษฐกิจ
มาตรการเหล่านี้จะยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2558 มากนัก รวมทั้งขนาดของเม็ดเงินก็ยังเล็กเกินไป ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เม็ดเงิน 1.3 แสนล้านบาทจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหากมีการหมุนเวียนหลายรอบทำให้เกิดผลทวีคูณทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐ (Multiplier Effect of Government Spending) ให้ผลด้านบวกต่อมิติด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากกว่ามิติด้านกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้า มาตรการเหล่านี้จะส่งผลดีต่อประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่กระทบระดับหนี้สาธารณะและระดับหนี้ครัวเรือนหากไม่มีการรั่วไหล
ตลาดการเงินโลกอาจเผชิญความผันผวนมากขึ้นอีกจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารจีน ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยโลกปรับตัวสูงขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ทุกๆการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 1% ของ GDP สหรัฐฯจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ US Treasury 10 year เพิ่มขึ้น 0.15-0.35% หากจีนขายพันธบัตรสหรัฐฯมากกว่า 30% ของที่ถืออยู่ในทุนสำรอง จะกดดันให้ดอกเบี้ยระยะยาวของพันธบัตรสูงขึ้นรวดเร็วเกินไปส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกได้
13.00 น. 6 ก.ย. 2558 ที่กรุงเทพมหานคร
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังความชัดเจนเรื่องรัฐธรรมนูญและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชุดใหม่วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ว่า โดยภาพรวมแล้วปัจจัยภายในน่าจะเป็นบวกต่อภาคบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยวและการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ภายในมากขึ้น ความเชื่อมั่นดีขึ้น การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 สะท้อนหลักการประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยพอสมควร เนื้อหาใดๆก็ตามที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและยอมรับอำนาจการเลือกตั้งของประชาชนย่อมยากที่จะฝืนกระแสธารประชาธิปไตยได้ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาและการจัดการรักษาความปลอดภัยหลังการก่อความรุนแรงสี่แยกราชประสงค์ทำให้ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมีจำกัดและรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะกลับสู่ภาวะปรกติได้ ส่งผลบวกทางเศรษฐกิจ
ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติม ในฐานะรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์และประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ว่า การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำให้การเมืองไทยไม่ต้องไปเสี่ยงกับการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญและฝ่ายคัดค้านรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นร่างที่มีเนื้อหาหลายประเด็นที่อ่อนไหวและไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจระยะสั้น การออกแบบให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเข้มแข็งและมีที่มาเป็นประชาธิปไตยจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจในระยะยาว ปัจจัยบวกเรื่องรัฐธรรมนูญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนไทยจะยังคงดำเนินต่อไปหากคณะร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่แก้ไขเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐธรรมนูญ จะช่วยลดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า เนื้อหารัฐธรรมนูญที่จะร่างกันใหม่นี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ผลการทำงานของคณะ คสช ว่ามุ่งสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ มั่นคง เข้มแข็งและสามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญได้หรือไม่และรับฟังกระแสเสียงประชาชน หรือ จะเดินซ้ำรอยผิดผลาดของคณะรัฐประหาร รสช อันนำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535
ส่วน ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชุดใหม่วงเงิน 1.3 แสนล้านบาทน่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีและช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป โดยมาตรการเหล่านี้จะยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2558 มากนัก รวมทั้งขนาดของเม็ดเงินก็ยังเล็กเกินไป ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เม็ดเงิน 1.3 แสนล้านบาทจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหากมีการหมุนเวียนหลายรอบทำให้เกิดผลทวีคูณทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐ (Multiplier Effect of Government Spending) ขึ้นอยู่กับว่าผลทวีคูณมีค่ามากกว่าหนึ่งหรือไม่ หากมากกว่าหนึ่งจะเกิด Crowding-in effect กระตุ้นการบริโภคการลงทุนต่อเนื่อง หากเป็น 2-3 เท่าก็ยิ่งดี หากผลทวีคูณต่ำกว่าหนึ่งหรือใกล้ศูนย์จะเกิด Crowding-out effect การใช้จ่ายภาครัฐจะไปหักล้างโดยการลดลงของการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งคาดว่ากรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยเพราะสภาพคล่องสูงในระบบการเงิน กลไกกองทุนหมู่บ้านได้ถูกออกแบบให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าการใช้จ่ายผ่านระบบราชการอยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาทอันประกอบไปด้วย การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โครงการลงทุนขนาดเล็กผ่านตำบลละห้าล้านบาท วงเงิน 36,275 ล้านบาท การเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท อาจจะให้ผลด้านบวกต่อมิติด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากกว่ามิติด้านกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยบรรเทาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า มาตรการเหล่านี้จะส่งผลดีต่อประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด เพราะมีประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมากที่สุด 3.4 ล้านคน (ประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน Poverty Line ทั่วประเทศอยู่ที่ 8.7 ล้านคน) สัดส่วนคนจนเมื่อวัดด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคอีสานก็สูงสุดมีสัดส่วนอยู่ที่ 18.11% ต่ำสุด คือ กรุงเทพฯอยู่ที่ 7.8%
ทางด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและภาวะวิกฤติฟองสบู่แตก ตลาดการเงินโลกอาจเผชิญความผันผวนมากขึ้นอีกจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารจีน ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยโลกปรับตัวสูงขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ
ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองเดือนที่ผ่านมามากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ จีนได้เทขายทรัพย์สินในรูปเงินดอลลาร์เพื่อประคองไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่ารุนแรงเกินไป เงินหยวนยังคงอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากกระแสเงินไหลออกและการเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ Citi Research มีการพยากรณ์ว่า ทุกๆการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 1% ของ GDP สหรัฐฯจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ US Treasury 10 year เพิ่มขึ้น 0.15-0.35% หากจีนขายพันธบัตรสหรัฐฯมากกว่า 30% ของที่ถืออยู่ในทุนสำรอง จะกดดันให้ดอกเบี้ยระยะยาวของพันธบัตรสูงขึ้นรวดเร็วเกินไปส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกได้ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ที่คาดการณ์ทิศทางตลาดได้อย่างถูกต้อง
ดร. อนุสรณ์ กล่าวสรุปว่า เมื่อตนประเมินปัจจัยต่างๆทั้งหมดทั้งปัจจัยบวกปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีความไม่แน่นอนจึงยังคงการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับต่ำกว่า 3% ในปีนี้ต่อไป และคาดหวังว่า สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าตามโรดแมฟ (แม้นอาจจะช้าไป 6 เดือนจากการที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่สามารถอธิบายได้ว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ที่ประกาศเอาไว้จะส่งผลดีต่อการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศรวมทั้งการจัดทำเอฟทีเอต่างๆทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ดร. อนุสรณ์ ในฐานะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังว่า วิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดจะส่งผลต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีผลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศแม้นเป็นนโยบายประชานิยมเนื่องจากอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง บรรดามาตรการแจกเงินต่างหากที่ควรยกเลิก และ มาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ยังช่วยอุดจุดอ่อนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความล่าช้าและยังมีการนำเข้าในสัดส่วนสูงจึงส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นน้อยทว่าจะส่งผลดีในระยะยาวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
เม็ดเงินเพียงแค่ 1.3 แสนล้านบาท เอาเฉพาะการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจสองแห่ง การรถไฟแห่งประเทศไทย การบินไทย และความเสียหายทางการคลังจากมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ก็เกิน 1.3 แสนล้านบาท ฉะนั้นเรื่องหนี้สาธารณะไม่ใช่ประเด็นปัญหา หนี้สาธารณะจะกลายเป็นปัญหาวิกฤติก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไม่โตตามเป้าหมายมากกว่าหรือการก่อหนี้ที่ไม่อยู่ในกรอบวินัยทางการคลังและไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ประมาทเพราะเราก็มีความเสี่ยงทางการคลังอยู่เนื่องจากเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า การกู้เงินใหม่ภายใต้ พรก พิเศษต่างๆและงบชำระเงินต้นเงินกู้ ไม่มีกรอบกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์กระทรวงการคลัง (ดร. พิมพ์เพ็ญ ลัดพลี ดร. บุณฑรีก์ โฆษิตานุฤทธิ์และคณะ) เพื่อให้มีการกำหนดกรอบเพิ่มเติม
และตนในฐานะกรรมการ สบน ขอสนับสนุนการทำงานของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน) ให้เดินหน้ายุทธศาสตร์นโยบายและการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเชิงรุก (Pro-active Public Debt Policy and Management) เพื่อไม่ให้ประเทศของเราต้องเผชิญหน้าชะตากรรมเดียวกับประเทศกรีซ ประเทศยุโรปบางประเทศและประเทศละตินอเมริกาบางประเทศที่มีระดับหนี้สินล้นพ้นตัวจนเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
นอกจากนี้ ประเด็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อหนี้ครัวเรือน จากข้อมูลสถิติและงานวิจัย พบว่า จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ในระดับเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ราว 11.15 ล้านครัวเรือน (11,151,934 ถึง 12 ล้านครัวเรือน) มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 248,004 บาทในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 12% ในปี พ.ศ. 2555-2556 และเพิ่มขึ้น 13% ในปี พ.ศ. 2558 ระดับการเป็นหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง การเป็นหนี้ในระดับสูงเป็นผลจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอมากกว่าการใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือไม่มีวินัยทางการเงินแต่ระยะหลังเป็นผลจากการกระตุ้นภาคการบริโภคแบบประชานิยม หากกองทุนหมู่บ้านและโครงการลงทุนขนาดเล็กก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน การจ้างงาน การประกอบอาชีพ การยกระดับมูลค่าและคุณภาพสินค้าหรือบริการที่ผลิตจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้น หากเม็ดเงินเหล่านี้ไม่หมุนเวียน ไม่เป็น Revolving Credit หรือ ไม่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนในชุมชน สินเชื่อส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อการบริโภคหรือการลงทุนที่ไม่ยั่งยืนหรือนำไปชำระหนี้เดิม จะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการให้เข้าถึงสินเชื่อมาได้ง่ายขึ้นมากขึ้นจะไม่มีผลทำให้ระดับหนี้สาธารณะและระดับหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นหากไม่มีการรั่วไหลออกจากระบบมากเกินไป