กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 30/2558 มีวาระการประชุมสำคัญที่น่าจับตาในการเตรียมความพร้อมผู้บริโภคในการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก โดยมีวาระพิจารณาอนุมัติบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 3 สถาบันการศึกษาใน 3 พื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกต่อผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ในข้อเสนอที่มาจากการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคต่อแผนการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าการยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ไม่ควรถูกกำหนดจากผู้ประกอบการหรือเหตุผลด้านเทคนิคตามแผนคลื่นความถี่เท่านั้น แต่ต้องคำนึงความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ทุกภาคส่วนควรเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งหมด และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้บริโภค ดังนั้นต้องศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เช่น จำนวนผู้บริโภคที่รับชมด้วยเสารับสัญญาณภาคพื้นดิน ผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยจัดให้มีการถอดบทเรียน เพื่อเป็นโมเดลในการปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งมีข้อเสนอ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการสนับสนุนอุปกรณ์ การติดตั้งอุปกรณ์ และให้มีศูนย์ให้ข้อมูลและช่วยเหลือประชาชนด้วย
"จากข้อเสนอในเวทีดังกล่าวนำมาสู่การทำข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะสำรวจการรับชมโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่และเคาะประตูบ้านทำความเข้าใจกับครัวเรือนครอบคลุมอำเภอไชยปราการ ฝาง และแม่อาย จำนวน 80,000 ครัวเรือน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำรวจการรับชมโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยจำนวน 32,000 ครัวเรือน และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด สำรวจการรับชมโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด 65,000 ครัวเรือน ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่จะเป็นต้นแบบ (Model) และบทเรียนในการยุติโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของพื้นที่อื่นๆต่อไป ด้วย" นางสาวสุภิญญากล่าว
นอกจากนี้ในการประชุม กสท.จะพิจารณาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลด้วยเช่นกัน ส่วนประเด็นที่มีความคืบหน้าและน่าจะมีประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนกันมากคือ ความคืบหน้ากรณีการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการจัดทำงานวิจัยเรตติ้งของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (MRB) ซึ่งหลังจาก กสท.มีมติเห็นชอบโครงการงานวิจัยเรตติ้งไปแล้ว ซึ่งในภายหลังมีผู้ประกอบการช่องทีวี 1 รายและเอกชนที่สำรวจเรตติ้งรายเดิมส่งหนังสือขอให้ทบทวนมติการนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) มาสนับสนุนสถาบันฯ MRB และวาระความเห็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในหมายเลขลำดับช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลที่สำนักงานฯ ส่งกลับเข้ามาให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประธาน กสทช. ประธาน กสท. และเลขาธิการ กสทช. ได้ให้ถ้อยคำกับศาลปกครองเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคมที่ผ่านมา กรณีที่บริษัทจีเอ็มเอ็มวัน ทีวี จำกัด และพวกร้องเพื่อให้มีการจัดเรียงลำดับช่องรายการในแต่ละโครงข่าย ( Platform ) เป็นแบบเดียวกัน
ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าจับตา คือ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การจัดสรรเงิน กทปส. ประจำปี 2558 ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์สำหรับโครงการประเภท 2 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจขอรับการจัดสรรเงินกองทุนประจำปี 2558 ประมาณช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนปีนี้ รวมถึงการจะตั้งอนุกรรมการร่วมกันอีกครั้งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล