กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--BrainAsia Communication
ในแต่ละปีมีจำนวนประชาชนและนักท่องเที่ยวสวนสัตว์สาธารณะในประเทศไทย กว่า 5 ล้านคน จากกรณีรถพ่วงบริการนำเที่ยวของสวนสัตว์ขอนแก่นเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ทางสวนสัตว์ขอนแก่น อ.สวนกวาง ได้ขอความอนุเคราะห์มายัง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ให้เข้าไปศึกษาปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ วสท.สรุป 8 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจากรถพ่วงบริการในสวนสัตว์และแหล่งท่องเที่ยว และเห็นว่าควรมีทั้งกฎหมาย และมาตรฐานทางวิศวกรรมเพื่อควบคุมดูแลการใช้รถพ่วงบริการนำเที่ยวอย่างปลอดภัย
รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท. ได้จัดทีมวิศวกรที่มีความรู้ และประสบการณ์เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ และวิเคราะห์ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ต้องใช้เวลามากเนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างต้องใช้ความรอบคอบมาก ผมขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรก รถนำเที่ยวลักษณะนี้ หน่วยงานของรัฐ คือ กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ประเด็นที่สอง รถนำเที่ยวลักษณะนี้ ไม่มีมาตรฐานทางวิศวกรรมในการประกอบ และใช้งาน วสท. เห็นว่าควรมีการดำเนินการให้มีทั้งกฎหมาย และมาตรฐานทางวิศวกรรม เพื่อควบคุมดูแลการใช้รถประเภทนี้ เพื่อความปลอดภัยของสาธาณชนต่อไป
นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. กล่าวว่า ในแต่ละปีสวนสัตว์สาธารณะในประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมมากกว่า 5 ล้านคน สวนสัตว์สาธารณะในประเทศไทยอยู่ภายใต้ "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หมวด 5 สวนสาธารณะ" มาตรา 29 จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี มาตรา 30 ก่อนเปิดดำเนินการ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองต่อเจ้าพนักงานเพื่อสามารถตรวจสอบได้ สำหรับสวนสัตว์สาธารณะในประเทศไทยที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมีรายละเอียดดังนี้ (ไม่รวมสวนสัตว์ที่ศูนย์การค้า และฟาร์มเลี้ยงสัตว์)
รศ.ดร.วิทยา ยงเจริญ กรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงข้อเท็จจริง วิเคราะห้สาเหตุ และข้อสันนิษฐานที่เกิดเหตุรถพ่วงพลิกคว่ำ ซึ่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)ได้ลงพื้นที่สวนสัตว์ขอนแก่นและตรวจสอบเรื่องสาเหตุ และข้อสันนิษฐานที่เกิดเหตุรถพ่วงพลิกคว่ำ ก่อนเกิดเหตุ รถวิ่งขึ้นทางลาดชันสูงและมีระยะทางค่อนข้างยาว คนขับได้ใช้การขับด้วยเกียร์ L (ต่างจากเส้นทางอื่น ๆ ที่ขับด้วยเกียร์ D) และจะต้องเร่งเครื่องเต็มที่เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนที่ขึ้นได้จนถึงจุดสูงสุด ขณะเกิดเหตุ 1. เริ่มขับเคลื่อนจากกรงนกแร้งขึ้นทางชันจนเมื่อถึงจุดสูงสุด 2. ลงทางลาดชัน 3. ระบบควบคุมความเร็วของรถไม่ทำงาน คันเร่งไม่ตอบสนองการขับขี่4. คนขับรถให้การว่าคันเร่งค้างและเบรกไม่อยู่ 5. ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นจนตามทันคันหน้าที่ไม่มีรถพ่วง และชนอย่างจัง 6. รถคันหน้าที่ถูกชน (ไม่มีลูกพ่วง) พลิกคว่ำ 90 องศา ส่วนรถคันที่ชนเกิดการพลิก 90 องศาเช่นกัน แต่รถพ่วงไม่มีการพลิกตาม ทางวสท.มีข้อสันนิษฐาน 1. สภาพถนนและการจราจรไม่ปลอดภัย ถนนมีความลาดชันมาก เมื่อถึงจุดสูงสุดก็จะเป็นทางโค้งลาดลง ไม่มีเครื่องหมายจราจร และสัญญาณจราจร ไม่มีราวทางโค้ง ไม่มีกระจกมองทางโค้ง ผิวถนนไม่มีเครื่องชะลอความเร็ว 2. อุปกรณ์รถยนต์ไม่ได้มาตรฐานหลายรายการ ไม่มีมาตรวัดความเร็ว ไม่มีแตรพิเศษที่ไม่ทำให้สัตว์ตกใจ วงจรเบรกแบบไฮดรอลิคไม่ถูกต้อง ไม่มีใบปัดน้ำฝน รถพ่วงไม่มีระบบเบรก ไม่มีเบรกมือ ไม่มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ไม่มีประตู ตาข่าย ไม่มีเครื่องเสียงในรถช่วยการบรรยายระหว่างการเดินรถ 3. ความชำนาญและประสบการณ์ของคนขับ ขาดความเข้าใจในการขับรถแบบเกียร์อัตโนมัติ เช่น ความพยายามดันเกียร์ให้ไปที่ P ขณะที่รถไม่หยุดนิ่ง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น คันเร่งค้าง 4. ไม่มีการตรวจสอบสภาพรถยนต์ประจำปีตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สรุป 8 ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจากรถพ่วงบริการในสวนสัตว์และแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯและภูมิภาค ดังนี้
1. ควรมีกฎหมาย และมาตรฐานทางวิศวกรรมเพื่อควบคุมดูแลการผลิตและการใช้งานรถพ่วงบริการนำเที่ยว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันรถพ่วงบริการนำเที่ยวสวนสัตว์ไม่มีการควบคุมและมาตรฐานทางวิศวกรรม ดังนั้นขอให้ระงับการใช้รถพ่วงไปจนกว่าจะมีการควบคุมและมาตรฐาน 2. ให้มีการตรวจสอบสภาพรถยนต์ทุกชนิดตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบกเนื่องจากรถที่ใช้ในสวนสัตว์ต้องบริการนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย 3. คนขับรถจะต้องผ่านการอบรมและได้ใบรับรองการขับขี่ที่สูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป 4. จัดให้มีห้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นพร้อมเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉิน ในแหล่งท่องเที่ยวสวนสัตว์ 5. จัดให้มีรถตรวจสอบสภาพผิวจราจรและอุปกรณ์การซ่อมเบื้องต้นในแหล่งท่องเที่ยวสวนสัตว์ 6. จัดให้รถทุกชนิดที่บริการสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวสวนสัตว์ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยและมาตรวัดตามมาตรฐาน 7. จัดให้มีที่จอดรถที่ปลอดภัยและการหยุดรถแวะเพื่อชมสัตว์ ซึ่งไม่ใช่ส่วนของถนนทางรถวิ่ง 8. ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว และสวนสัตว์