กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สพฉ.
ตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กำหนดแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 - 2559 มุ่งให้ประเทศไทยมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งหนึ่งในผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ถือเป็นกำลังหลักในการจัดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาล คือพยาบาลวิชาชีพ
ดังนั้นสภาการพยาบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญ และได้จัดโครงการประชุมผู้นำการพยาบาลฉุกเฉิน เรื่อง "การกำหนดและขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาพยาบาลฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน" ขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 2 และนายกสภาการพยาบาลกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาความรู้เรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งในการทำงานจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานโดยให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เพราะชีวิตคนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นอกจากนี้จะต้องเป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพฉุกเฉินของประชาชนด้วย คือจะต้องมีการฝึกฝนและพัฒนาความรู้ในทันต่อสถานการณ์
อย่างไรก็ตามนอกจากการหาแนวทางพัฒนาเรื่องการทำงานแล้ว ในเรื่องสวัสดิการและการคุ้มครองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสภาการพยาบาลกำลังเร่งหาแนวทางในการดูแลพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานในรถฉุกเฉิน เพราะจากสถิติที่ผ่านมา พยาบาลต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด
ด้านนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินหากมีการหลอมรวมกับสภาวิชาชีพต่างๆ จะทำให้การพัฒนามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคต สพฉ.และพยาบาล จะร่วมมือกับในการผลิตบุคลากรระดับต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริการมีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องการคุ้มครองพยาบาล สพฉ. ตระหนักถึงความสำคัญมาตลอด โดยที่ผ่านมีการจัดอบรมการขับขี่รถพยาบาลปลอดภัย การกำหนดมาตรฐานรถพยาบาล และกำลังหาแนวทางในการเพิ่มความคุ้มครองให้มากยิ่งขึ้น เช่น การทำประกันชีวิต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นการป้องกันการสูญเสียจากต้นเหตุที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ คือร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย และการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน