โพลล์เผยผู้ปกครองรับรู้ข่าวศธ.ลดชั่วโมงเรียน

ข่าวทั่วไป Monday September 7, 2015 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายการลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้ในแต่ละวันให้กับนักเรียนในสถานศึกษา โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 4 กันยายน พ.ศ. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,133 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 52.16 ขณะที่ร้อยละ 47.84 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 29.48 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 41 ถึง 45 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 33.45 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 29.92 ข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 25.95 และพนักงานรัฐวิสาหกิจคิดเป็นร้อยละ 20.39 ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.61 รับทราบข่าวเกี่ยวกับนโยบายการลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้ให้กับนักเรียนในสถานศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.39 ไม่ทราบ ในด้านความคิดเห็นต่อระยะเวลาในการเรียนและกิจกรรมหลังสิ้นสุดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนแต่ละวันนั้น หากเริ่มชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนของแต่ละวันในเวลา 08.00 น. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.75 มีความคิดเห็นว่าควรให้ชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนสิ้นสุดในเวลาประมาณ 14.00 น. รองลงมามีความคิดเห็นว่าควรให้สิ้นสุดในเวลา 15.00 น. และเวลา 13.00 น. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25.33 และร้อยละ 21.18 ตามลำดับ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 8.3 ที่มีความคิดเห็นว่าควรสิ้นสุดหลังเวลา 15.00 น. และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.44 มีความคิดเห็นว่าควรสิ้นสุดเพียงเวลาประมาณ 12.00 น. สำหรับกิจกรรมที่อยากให้สถานศึกษาจัดหลังสิ้นสุดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเสริมทักษะ เช่น กีฬา ดนตรี งานฝีมือ ทำอาหารให้กับนักเรียนหลังสิ้นสุดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36.19 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.74 อยากให้จัดกิจกรรมเสริมความรู้ทั่วไปนอกเหนือจากบทเรียนในชั้นเรียน เช่น รับฟังวิทยากรจากภายนอก อ่านหนังสือในห้องสมุด รับชมภาพยนตร์ สารคดีความรู้ต่าง ๆ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.74 และร้อยละ 12.8 อยากให้จัดกิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือสังคม เช่น เก็บขยะ ปลูกต้นไม้และกิจกรรมด้านวิชาการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เรียนในชั้นเรียน เช่น การทำแบบฝึกหัด การทำการบ้านตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 6.53 มีความคิดเห็นว่าควรอนุญาตให้นักเรียนกลับบ้านได้ตามอิสระ ในด้านความคิดเห็นต่อการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.31 มีความคิดเห็นว่าการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนจะมีส่วนช่วยลดความเครียดจากการเรียนของนักเรียนได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.69 มีความคิดเห็นว่าการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนจะไม่ส่งผลกระทบให้นักเรียนได้รับเนื้อหาการเรียนรู้ที่สำคัญในแต่ละวิชาน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.55 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้หลังสิ้นสุดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนจะมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากเนื้อหาบทเรียนให้กับนักเรียนได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนให้สิ้นสุดเร็วขึ้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.55 ยอมรับว่าตนเองกังวลว่านักเรียนจะมีโอกาสได้ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เที่ยวเตร่ เล่นเกม เสพยาเสพย์ติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.67 มีความคิดเห็นว่าการลดชั่วโมงเรียนให้สิ้นสุดเร็วขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.86 ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.47 ไม่แน่ใจ ในด้านความคิดเห็นต่อนโยบาย "ลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้" กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 57.19 มีความคิดเห็นว่านโยบาย "ลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้" จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของนักเรียนไทยให้สูงขึ้นกว่าในปัจจุบันได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.4 มีความคิดเห็นว่าการลดชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มเวลาทำกิจกรรมการเรียนรู้ยังไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะนิสัยของนักเรียนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.52 เห็นด้วยกับนโยบาย "ลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้" อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.49 ไม่มั่นใจว่าจะมีการดำเนินการตามนโยบาย "ลดชั่วโมงเรียนเพิ่มชั่วโมงรู้" ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลได้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ