กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ในอีก 35 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2050) องค์กรอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคน ไปเป็น 9 พันล้านคน ความต้องการพลังงาน น้ำ และ อาหารก็จะเติบโตทวีคูณ ความต้องการในการพัฒนาและการลงทุน ในการสรรหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ให้เพียงพอแก่ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เชลล์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เชลล์มีนโยบายในเรื่องส่งเสริมการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและสะอาดด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ในประเทศไทย เชลล์สนับสนุนแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ และต้องการยกระดับมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันตลอดสายการผลิตในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจของเกษตรกรชาวไทย
เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลรายใหญ่ของประเทศ ได้ร่วมมือกันสนับสนุนโครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรชาวไทยและโรงงานสกัดน้ำมันผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกษตรกรชาวไทยจำนวน 797 ราย ในจังหวัด กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง และ สุราษฏร์ธานี และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 5 แห่ง ได้รับประกาศนียบัตรผ่านมาตรฐาน RSPO ไปเรียบร้อยแล้ว
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวในพิธีมอบประกาศ นียบัตร ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า "เชลล์เป็นบริษัทน้ำมันรายแรกที่ลงทุนพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรไทยและโรงสกัดน้ำมันได้รับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน RSPO ในทุกๆปี ร้อยเปอร์เซนต์ของปริมาณน้ำมันปาล์มที่เชลล์ผสมในน้ำมันนั้น ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับโลกที่เชื่อถือได้ อย่างเช่น มาตรฐาน RSPO ในปี พ.ศ. 2557 เราได้ผสมเชื้อเพลิงชีวภาพประมาณ 9 พันล้านลิตรในน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลทั่วโลก ทำให้เราเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพใหญ่ที่สุดในโลก
"เชลล์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับกลุ่มเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่ได้ดำเนินงานจนได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน RSPO เป็นการยกระดับการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม สร้างความมั่นใจได้ว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานในการปลูก การสกัดน้ำมันปาล์ม และการแปรรูปน้ำมันปาล์ม และจนมาถึงน้ำมันดีเซลที่ผู้บริโภคเติม มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังความมุ่งหวังของเชลล์ที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับประเทศ" นายอัษฎา กล่าว
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า "น้ำมันพืชปทุมเป็นหนึ่งผู้ใช้น้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ของประเทศ น้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เฉลี่ยทั้งโลกมีประมาณร้อยละ 20 อินโดนีเซียผ่านการรับรอง 18-19% มาเลเซียผ่านการรับรอง 25% ขณะที่ประเทศไทยผ่านการรับรองเพียง1% "ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เกษตรกรให้มีมาตรฐานการการปลูกและการผลิตตามมาตรฐาน RSPO 8 หลักการคือ 1. ความโปร่งใส 2. ปฏิบ้ติตามกฎหมายและระเบียบ 3. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 4.ทำตามวิธีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันที่ดี 5.ดูแลรักษา สิ่งแวดล้อม 6. รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน 7.ปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ 8. พัฒนาส่วนปาล์มอย่างต่อเนื่อง" นายศาณินทร์ กล่าว
มร.ซาลาฮุดดิน ยาค็อบ ผู้อำนวยการด้านเทคนิค หน่วยงานมาตรฐาน RSPO กล่าวว่า "ประเทศไทยมีจำนวนไร่ปาล์มน้ำมันประมาณ 4 ล้าน 2 แสนไร่ ซึ่งร้อยละ 70 เป็นพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย RSPO มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO เพื่อให้มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ ขณะเดียวกัน ลดความเสี่ยงเรื่องการใช้พื้นที่ทำกินไม่ถูกต้อง บุกรุกพื้นที่ป่า หรือแม้แต่การเผาป่า ซึ่งส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ"
"นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจริยธรรมการบริโภค มีอิทธิพลต่อความต้องการของตลาดและการรับซื้อสินค้า พราะหลายบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศจะเลือกคู่ค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO มาพิจารณาในการรับซื้อสินค้า การนำมาตรฐาน RSPO เข้ามาเป็นหลักปฎิบัติ จะช่วยให้เกษตรกรไทยรักษาและเพิ่มระดับการค้าน้ำมันปาล์มไปยังประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น" มร.ซาลาฮุดดิน ยาค็อบ กล่าว
ทางด้านนายเชาวลิต วุฒิพงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนศรีเจริญ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าโครงการ ว่า เกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการสวนปาล์ม ตั้งแต่ การเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ย การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเก็บเกี่ยวที่ดี ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ผลผลิตทะลายปาล์มสดสูงขึ้น สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลผลิตคุณภาพทั่วไป โดยผู้ประเมินของ RSPO รับรองว่ากลุ่มเรา ซึ่งได้มีการพัฒนากระบวนการปลูกปาล์ม น่าจะได้ผลผลิตประมาณ 4 ตันต่อไร่
RSPO ย่อมาจาก Roundtable On Sustainable Palm Oil เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการจาก 7 ภาคส่วน ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ผู้ค้าปาล์มน้ำมัน ผู้ผลิตสินค้า นักลงทุน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคม ริเริ่มโครงการ RSPO ขึ้นและนำหลักเกณฑ์วิธีการและแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานโลกให้เกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยเกี่ยวข้องใน 3 ประเด็นหลัก คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายศาณินทร์ กล่าวกับเกษตรกรในพิธีมอบประกาศนียบัตรว่า "เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่อง ที่ทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานร่วมมือและผลักดันให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการขยายไปยังกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้มาตรฐาน RSPO เพื่อเพิ่มสัดส่วนของเกษตรกรไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้มากยิ่งขึ้น สร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีความมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความยั่งยืนในอาชีพ ในขณะเดียวกันป้องกันผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม"