กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๒ จังหวัดสงขลา (สคร.๑๒) เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เตือนประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๒ จังหวัดสงขลา (สคร.๑๒) เปิดเผยว่าในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝนมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดแอ่งน้ำขังหรือน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ และกาบไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ยุงอาจจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซี่งเป็นน้ำนิ่งใสและสะอาด น้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้นมีโอกาสกัดคนและแพร่โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนทุกวัยเสี่ยงพอๆกัน เน้นประชาชนดูแลบ้านเรือนของตนเอง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บน้ำ เก็บบ้าน เก็บขยะ
จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ๗ จังหวัดตอนล่างของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๒ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วทั้งสิ้น ๒,๑๐๖ ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา ๘๓๐ ราย รองลงมาจังหวัดนราธิวาส ๓๓๘ ราย จังหวัดพัทลุง ๓๑๐ ราย จังหวัดตรัง ๒๓๙ ราย จังหวัดปัตตานี ๒๓๘ ราย จังหวัดยะลา ๘๐ ราย และจังหวัดสตูล ๗๑ ราย ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑ มกราคม – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีผู้ป่วยแล้ว ๕๕,๔๒๘ ราย เสียชีวิต ๔๒ ราย ที่สำคัญ ๘ เดือนของปีนี้ มีผู้มากกว่าทั้งปีของปี ๒๕๕๗ (๔๐,๒๗๘ ราย) ส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าปี ๒๕๕๗ (ทั้งปี ๔๑ ราย)
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่มียุงลายบ้านเป็นพาหนะนำโรคมาสู่คน ลักษณะที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอยประมาณ ๒ - ๗ วัน และมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตับ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะช็อกแทรกซ้อนเป็นเหตุเสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออกด้วยการหมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัยทุกๆสัปดาห์หลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอยไข้ไม่ลดภายใน ๒ – ๓ วัน ให้สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาแก้ไข้หรือยาชุดรับประทานเอง ให้รีบพบแพทย์ทันที หากหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทรสายด่วน กรมควบคุมโรค ๑๔๒๒