กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 4.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 5.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 6.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 5.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· European Commission รายงานดัชนีความความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซน (Economic Sentiment Indicator) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 104.2 จุด (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2 จุด) และสูงกว่า Reuters ประมาณการณ์ที่103.8 จุดทั้งนี้ดัชนีที่เพิ่มขึ้นได้แรงหนุนจากภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และ ภาคขายปลีกชดเชยการชะลอตัวของภาคการผลิต ทั้งนี้สถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของยุโรปจะช่วยลดทอนแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจจากการชะลอตัวของจีน
· นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจขยายระยะเวลาใช้มาตรการ QE ที่ECB ซื้อพันธบัตร วงเงิน 60,000 ล้านยูโร/เดือน ออกไปจากกำหนดเดิมซึ่งจะสิ้นสุดเดือน ก.ย. 58 เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่0.05 % และคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยูโรโซนปีนี้จะเติบโต 1.4 % ลดลง 0.1 % จากคาดการณ์ครั้งก่อน และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 จากเดิม 1.9 % ลงสู่ 1.7 % ในปีนี้
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานการณ์ลงทุนในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.ย. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14,768 สัญญา มาอยู่ที่ 116,377สัญญา
· Baker Huges Inc. รายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 13 แท่น มาอยู่ที่ 662 แท่น
· กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นเดือน ก.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.9% มาอยู่ที่ระดับ 3.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20% มาอยู่ที่ระดับ 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 5.1% ต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง และเป็นระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ถือว่ามีการจ้างงานเต็มอัตรา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Moody's สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศและหน่วยงานที่ออกตราสารสำหรับการลงทุน ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 จากการประเมินครั้งก่อนที่ 3 % สู่ระดับ 2.8 %เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวแต่ยังคงมีความเสี่ยงจากกรีซ ส่วนเศรษฐกิจบราซิล และรัสเซียยังคงหดตัว เช่นเดียวกับ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้น่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ซบเซา
· สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers' Index: PMI) ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 0.3 จุด มาอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทั้งนี้ดัชนีสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New Export Orders) ลดลงจากเดือนก่อน 0.2 จุด มาอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11
· กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานยอดผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.3% มาอยู่ที่10.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนหลักมาจากการผลิตของบริษัท Gazprom ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ถึง 11%
· Oil Movement รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของ OPEC ไม่รวมแองโกลาและเอกวาดอร์จากข้อมูลตารางการเดินเรือ ช่วง 19 ส.ค. 58 - 19 ก.ย.58 อยู่ที่ 23.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้า
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ปรับตัวลดลง แม้มีแรงส่งจากจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดที่ลดลง แต่ถูกกดดันจากความวิตกต่อปริมาณสำรองน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูง เกินคาด นอกจากนี้ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ไม่ได้มีเอกภาพชัดเจน เนื่องจากการเติบโตของยอดจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 5.1% ต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจยังตัดสินใจไม่ปรับขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้านแนวโน้มในระยะยาว นาย Igor Sechin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Rosneft ให้สัมภาษณ์ว่ารัสเซียจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ถึงระดับ 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในอีก 2 ทศวรรษ เทียบกับปัจจุบันที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชี้ให้เห็นว่ารัสเซียไม่มีนโยบายลดปริมาณการผลิตเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน แต่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ Sechin ยังชี้ว่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนในการผลิตที่แหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับในตะวันออกกลาง จากเดิมที่ประมาณ 5-7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคา ICE Brent , Dubai และ NYMEX WTI อยู่ในช่วง 46.20-52.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, 44.70-50.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 43.80-47.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากข่าว METI รายงานยอดขายน้ำมันเบนซิน ภายในประเทศ เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.4 % และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.0 % อยู่ที่ 967,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Maoming Petrochemical บริษัทลูกของบริษัทน้ำแห่งชาติ Sinopec ของจีน เผยแผนที่จะส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 50% มาอยู่ที่ 83,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่น Guangdong (กำลังการกลั่น 470,000 บาร์เรลต่อวัน) ปัจจุบัน โรงกลั่นดังกล่าวมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 78% และ Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซิน ในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในตลาดจร โดยบริษัท Petron จากฟิลิปปินส์ ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 97 RON และ 95 RON จำนวน 2 เที่ยวเรือ เที่ยวเรือละ 10,000 บาร์เรล และ 90,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ส่งมอบช่วงวันที่ 8-14 และ 13-18 ต.ค. 58 ประกอบกับ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.97% มาอยู่ที่ 10.22 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการผลิตลดลงจากสัปดาห์ก่อน 14.96% มาอยู่ที่6.13 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม มีข่าวรัฐบาลจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินในไตรมาสที่ 4/58 ให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Sinopec Corp., CNOOC และ China National Petroleum Corp. รวม 17 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 488% ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.78 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่12.24 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ บริเวณAmsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.7 % มาอยู่ที่ 8.6ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.70-67.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานบริษัทค้าน้ำมัน Trafigura เข้าซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S จากเกาหลีใต้ เพื่อส่งไปยังแอฟริกาตะวันตกในเดือน ก.ย. 58 โดยใช้เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ (Very Large Crude Carrier: VLCC) ซึ่งบรรจุได้ถึง 2 ล้านบาร์เรล จำนวน 2 ลำ เนื่องจากค่าขนส่ง VLCC ลดลงมากในเดือน ส.ค. 58 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.12 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.43 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันดีเซล ในไตรมาสที่ 4/58 ให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Sinopec Corp., CNOOC และ China National Petroleum Corp. รวม 25ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 17% และ PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน4.3 % มาอยู่ที่ 26.5 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง Kerosene เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.24% มาอยู่ที่ 15.39 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.70-62.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล