อธิบดีกรมการแพทย์แนะคนไทยว่า โรคมะเร็งสามารถป้องกันและรักษาได้

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 1998 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--20 ม.ค.--สำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข
อธิบดีกรมการแพทย์ชี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมสูงถึงร้อยละ 90 โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม อีกทั้งผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกหากได้รับการค้นหาและรักษาทันท่วงทีก็สามารถหายจากโรคนี้ได้
นายแพทย์ พิชญางกูร อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า จากการศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคมีปัจจัยทั้งภายในและนอกร่างกาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งร้อยละ 70-90 มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ที่กระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ รังสีต่างๆ รังสี X-RAY รังสีอุลตร้าไวโอเร็ต แสงอาทิตย์ สารเคมีในอากาศที่เราสัมผัส หรือแม้แต่อาหารหลายอย่างซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เช่นเชื้อราปนเปื้อนในถั่วมีสารอัลฟ่าลท็อกซิน อาหารปิ้ง - ย่าง รมควันที่มีสีดำ สารถนอมอาหารไนเตรดไนไตร์ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารสุกๆ ดิบๆ การรับประทานยาฮอร์โมนเป็นเวลานานในหญิงที่มีความผิดปกติของประจำเดือนหรือที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกกับรังไข่ออก ยาบางอย่างที่รับประทานโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สิ่งเสพติด ฯลฯ ส่วนสาเหตุจากภายในร่างกายเกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของยีนส์ จากการศึกษาพบว่าอายุของผู้ป่วยมะเร็ง ร้อยละ 82 มีอายุระหว่าง 35-37 ปี เพศชายเป็นมะเร็งมากที่สุดในช่วง 45 - 47 ปี ส่วนเพศหญิงอยู่ในช่วงอายุ 35 - 64 ปี
สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองคือ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ปัสสาวะเป็นสีเลือด กลืนอาหารลำบาก มีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานานๆ มีอาการไอเสียงแหบ ไอเรื้อรัง มีเลือดหรือตกขาวผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น มีแผลซึ่งรักษาแล้วไม่หาย มีก้อนที่เต้านมหรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หูอื้อมีเลือดกำเดาออก ฯลฯ เมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรค และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
นายแพทย์ชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งในระยะแรกจะไม่แสดงอาการให้เห็น ฉะนั้นการตรวจค้นหาโรคจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยทั่วไปใช้การตรวจสุขภาพประจำปีร่วมกับการตรวจพิเศษบางอย่างก็สามารถค้นหาโรคมะเร็งได้ เช่นการตรวจแพพสเมียร์ในหญิง 20-65 ปี ตรวจเต้านมด้วยตนเองในหญิงอายุ 20-40 ปี
สำหรับการรักษาโรคถ้าได้รักษาเสียแต่ระยะแรก ก็มีโอกาสหายขาดได้ แต่เดิมผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยส่วนมากจะมาพบแพทย์ก็เป็นในระยะเกือบสุดท้ายแล้ว ทำให้การสูญเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่ในปัจจุบันการรักษาได้พัฒนาให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นโดยใช้แบบผสมผสานระหว่างศัลยกรรม เคมีบำบัด และรังสีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขหลังจากได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งมาในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาคนไข้หรือผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกชนิดที่แพทย์รักษาไม่ได้จะมีจำนวนน้อยลงจนเห็นได้ชัด
นายแพทย์ชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า หัวใจของการป้องกันโรคมะเร็ง คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีก็สามารถป้องกันมะเร็งตับได้อีกทางหนึ่ง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามิน เอ ซี อี สูง เช่น ผักผลไม้ที่มีสีเขียว และมีกากอาหารมาก งดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เป็นสารเสพติด ก็เป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ของการเกิดโรคได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ