กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
สภาอุตสาหกรรมฯ ผนึกกำลัง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และอินเทล ผลักดันผู้ประกอบการสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
อินเทลให้การสนับสนุนเนื้อหาหลักสูตร Intel® Entrepreneurship Basics หรือ E-Basics ซึ่งนำเสนอหลักการสำคัญในการพัฒนาธุรกิจที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไอทีชั้นนำในประเทศไทย ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในโครงการ สร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน, OTOP) จัดฝึกอบรม E-Basics เพื่อพัฒนาความรู้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านทางเครือข่าย ICT ชุมชน หวังผลักดันภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กว่า 12,000 ราย พร้อมจัดโปรโมชั่นสินค้าและบริการด้านไอทีในราคาพิเศษ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเนื่องในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน "สร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ " ว่า "ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรู้ถึงเจตนารมณ์อันดีในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยกันยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้สามารถขับเคลื่อนและแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ทันสมัย และนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมสนับสนุนพันธกิจนี้ด้วยการเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และส่งเสริมสนับสนุน (promoter) ให้ภาคเอกชนนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสภาอุตสาหกรรมฯ และแนวทางในการสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอีว่า "เพื่อเป็นการขานรับมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอี ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้นำเสนอทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลถึงแนวทางจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้ามาจดทะเบียนในระบบมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งการขยายตลาด การอบรมทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันก็ยังคงดำเนินการตามแนวทางสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดทำเว็บไซต์ www.FTIebusiness.com เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับบีทูบี (B2B – Business-to-Business) โดยร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอี เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เข้ามาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนแก่ Supply Chain ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ก็จะดูแลในส่วนของแพลตฟอร์มสำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับบีทูซี (B2C – Business-to-Consumer) ในรูปแบบของเว็บไซต์ www.Thaiemarket.com" นายสุพันธุ์ กล่าวเสริม
นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "อินเทล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของอินเทลในการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทางด้านไอทีสู่ภาคประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในส่วนของอินเทลได้มีการพัฒนาหลักสูตรการจัดฝึกอบรม E-Basics มุ่งเน้นการให้ความรู้ทางด้านธุรกิจพร้อมกับสร้างทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งบน www.FTIebusiness.com และ www.Thaiemarket.com โดยในช่วงเริ่มต้นโครงการ ตั้งเป้าหมายว่าจะเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ประกอบการได้ 12,000 ราย ภายในปี 2558
โดยมีศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช เข้ามาช่วยเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีในระดับชุมชน และหวังว่าจะมีการขยายผลร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในปีต่อๆ ไป
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตอุปกรณ์นำเสนอดีไวซ์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งานในราคาพิเศษ และจัดพื้นที่เฉพาะภายในร้านค้าปลีก เรียกว่า เอสเอ็มอี คอร์เนอร์ (SME Corner) สำหรับรองรับการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดทำข้อเสนอพิเศษอื่นๆ สำหรับสินค้าและบริการด้านไอทีที่จะมีประโยชน์เพื่อจูงใจผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบทั้งหมด" นายสนธิญา กล่าวทิ้งท้าย
ภายใต้ความร่วมมือนี้จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์กว่า 400,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันภาคธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 11.7 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 80.4 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด