กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมถอดบทเรียนเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
นพ.สาฬวุฒิ เหราบัติ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เข้าข่ายเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงและอยู่ในระดับฉุกเฉินจากฝีมือของมนุษย์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกอย่างเร่งด่วน การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจึงมีความจำเป็นต้องบูรนาการการทำงาน ต้องมีการประสานการปฏิบัติร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อประเมินสถานการณ์ การแจ้งข่าว และการประสานการช่วยเหลือ เพื่อรับมือกับการเกิดสาธารณภัยของประเทศต่อไป
โดยปัญหาที่หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนนี้ จะได้รับการต่อยอดเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้จะจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนซึ่งจะมีการถอดบทเรียนมาจากประเทศต้นแบบที่มีการรับมือสาธารณภัยได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่นที่เคยรับมือกับสาธารณภันหลายรูปแบบ อาทิ สารเคมีรั่วไหล ระเบิด การก่อร้าย โดยหลักการสำคัญที่จะต้องยึดคือ จะต้องเรียบง่ายและเข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย
ด้าน ดร.พิจิตต รัตตกุล กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า สพฉ. มีหน้าที่หลักคือให้คำแนะนำในด้านวิชาการในการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะให้หน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันเสนอแนะว่าเกิดปัญหาในการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา 4 ข้อ คือ
1. ทำอย่างไรให้มีการกู้ชีพที่เหมาะสมโดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ภัยและไม่ทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุ และที่สำคัญจะต้องมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปทำงานได้
2. หน่วยงานที่ทำงานด้านกู้ชีพซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นจะต้องตกลงว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นใครจะเข้าไปก่อนและเข้าไปในสถานการณ์ใดเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
3. โรงพยาบาลต่างๆ จะต้องประเมินศักยภาพของตนเองว่าสามารถรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะต้องถูกส่งไปรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้และมีศักยภาพมากที่สุด
และ 4. จะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนในการปฏิบัติเมื่ออยู่ในสถานการณ์สาธารณภัย เช่น จะต้องอยู่ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุ และไม่มุงดูเพราะจะขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ด้านนายชาติชาย ไทยกล้า ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า กล่าวว่า ในสถานการณ์ความรุนแรง หรือการก่อการร้ายการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเกิดเหตุทุกคนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ประชาชนต่างตื่นตกใจและวิ่งพล่าน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการทำงานของที่ไม่สอดรับกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้หน้าที่ที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานแบบย้อนศร และทำไปตามสถานการณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเขียนคู่มือการทำงานเฉพาะกลุ่มให้ชัดเจน โดยระบุเจาะจงตามสถานการณ์ เช่น ตำรวจ กู้ชีพ กู้ภัย ดับเพลิง แพทย์ ต้องทำงานอย่างไรในสถานการณ์ระเบิด
ขณะที่ตัวแทนจากทีมแพทย์ พยาบาล และมูลนิธิ ต่างสะท้อนปัญหาของการทำงานว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือข้อมูล ณ จุดเกิดเหตุ ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถประเมินการช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้บัญชาการเหตุการณ์ว่าเป็นหน่วยงานใด ทำให้การเข้าไปยังจุดเกิดเหตุของหน่วยงานต่างๆ มีความสับสน และที่สำคัญที่สุดคือมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทั้งในเรื่องการสื่อสารข้อมูลผู้บาดเจ็บ การประสานส่งต่อผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยชาวต่างชาติ ดังนั้นต่อจากนี้จะต้องมีการวางแผนในการทำงานร่วมกันเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น