11 จังหวัดปลื้มสื่อการศึกษาทางไกลช่วยพฤติกรรมการเรียนการสอนพัฒนาขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 1997 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 เม.ย.--กศน.
ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เปิดเผยว่า จากการทดลองจัดกระบวนการเรียนการสอนในลักษณะบูรณาการสื่อประสม ระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์โดยทดลองกับนักศึกษานอกระบบโรงเรียน ระดับชั้น ม.ต้น ภาคเรียนที่ 2/2539 ใน 11 จังหวัด คือ จังหวัดน่าน นครสวรรค์ ชัยนาท ชลบุรี บุรีรัมย์ มหาสารคาม สมุทรปราการ ระยอง ยะลา เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งทดลอง 2 หมวดวิชา คือ หมวดวิชาภาษาไทย (วิชาบังคับ) และหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ 1 (วิชาเลือก) พบว่า ครูประจำกลุ่มและนักศึกษา มีความพึงพอใจอย่างมากต่อการใช้สื่อประสมที่ให้นักศึกษาชุดวิชา แล้วเสริมด้วยรายการโทรทัศน์และการปฏิบัติกิจกรรมรวมทั้งทำแบบฝึกหัดต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งครูและนักศึกษามีพฤติกรรมการเรียนการสอนและการพบกลุ่มที่พัฒนาขึ้นมาก จากเดิมที่ครูสอนแบบบอกหรือบรรยายให้นักศึกษาฟังแต่ฝ่ายเดียว เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา สอนเสริมในเรื่องที่ไม่เข้าใจและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีบทบาทมากขึ้น กล้าแสดงออกมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้จัดการวิเคราะห์ อภิปราย ซักถามและอธิบายให้เหตุผล และครูได้มีการเตรียมการสอนอย่างเป็นระบบมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสอนแบบเดิมที่เคยปฏิบัติ
อธิบดี กศน.กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่านักศึกษาขาดสอบน้อยลง มีการศึกษาเนื้อหาชุดวิชามาล่วงหน้าก่อนการพบกลุ่ม ครูและนักศึกษาพึงพอใจต่อกิจกรรมและแบบฝึกหัดที่กำหนดไว้ในชุดวิชาอย่างหลากหลายรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าบางกิจกรรมยากต่อการปฏิบัติ เนื่องจากในชนบทขาดแคลนแหล่งความรู้และบุคลากรผู้รู้ในเนื้อหานั้น ๆ จึงต้องการให้เพิ่มเนื้อหาในชุดวิชาให้มากขึ้น ลดจำนวนเล่มลงและให้ลดราคาให้ถูกลงพอที่นักศึกษาจะหาซื้อได้เอง สำหรับรายการโทรทัศน์นั้น พบว่าครูและนักศึกษาได้รับประโยชน์อย่างยิ่งเพราะสามารถรับภาพได้คมชัด เนื้อหารายการเหมาะสม ช่วยให้เข้าใจเรื่องที่ยากได้ง่ายต่อการจดจำจึงต้องการให้นำเสนอเนื้อหาเสริมวิชาหลัก ๆ ทุกวิชาเพิ่มความยาวรายการเป็น 25-30 นาที และต้องการให้สำเนาเทปรายการให้นักศึกษาได้ยืมไปศึกษานอกเวลาได้มากขึ้น
ส่วนผลสัมฤทธิ์ของการเรียน โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เรียนแบบปกติ มีทั้งเกรดเฉลี่ยสูงกว่าและไม่แตกต่างมากนัก ซึ่งกรมฯ จะได้ดำเนินการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยและตัวแปรแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยจะทดลองในหมวดวิชาและระดับชั้นอื่น ๆ เพื่อนำผลการทดลองมาพัฒนาสื่อการศึกษาทางไกลให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้น ส่วนข้อจำกัดของการศึกษาทางไกลที่ผ่านมานั้น คือการที่ครูไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนและไม่สะดวกใจที่จะใช้สื่อทางไกล จึงได้กำหนดให้ 11 จังหวัดนำร่องเป็นพี่เลี้ยงในการกระจายการทดลองไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภาคเดียวกันในการติดตามและปรับปรุงการศึกษาทางไกลในรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้กรมได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงงาน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าหากผู้บริหารติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมครูจากการเรียนการสอนปกติ มาสู่การใช้สื่อเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ อธิบดี กศน.กล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ