กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สปช. โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 8 กันยายน 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่ว ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,277 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีมติ 135 เสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รับ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็น วิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการที่ สปช. มีมติเสียงข้างมาก 135 เสียง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.14 ระบุว่าเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 29.76 ระบุว่าไม่เห็นด้วย และร้อยละ 32.10 ไม่มีความเห็น เพราะเป็นสิทธิของ สปช. ที่จะตัดสินใจอย่างไรก็ได้
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึง ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อผลของการที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ไม่มีความรู้สึกใดๆ ร้อยละ 17.07 ระบุว่า สปช. ไม่ควรโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างฯ ร้อยละ 13.70 ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยจึงสมควรถูกโหวตคว่ำโดย สปช. ร้อยละ 13.23 ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญถูกโหวตคว่ำโดย สปช. ดีกว่าต้องเสียเงินอีก 3 พันล้าน ทำประชามติและอาจถูกคว่ำโดยประชาชน ร้อยละ 10.49 ระบุว่า เป็นเรื่องไม่ดีเพราะประชาชนเสียโอกาสที่จะกลับคืนสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในกลางปีหน้า ร้อยละ 9.63 ระบุว่า รู้สึกเสียดายร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปเพราะเป็นร่างฯ เพื่อการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 8.38 ระบุว่า เป็นเรื่องดีเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อไปจนถึงกลางปี 2560 ร้อยละ 7.60 ระบุว่า เป็นเรื่องดีเพราะประชาชนไม่ต้องเผชิญกับการเมืองและนักการเมืองแบบเดิม ๆในกลางปีหน้า ร้อยละ 2.58 ระบุว่า เป็นเรื่องไม่ดีเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อไปจนถึงกลางปี 2560 ร้อยละ 2.66 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ สปช.ก็ทำดีแล้ว รัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาในบางข้อที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ สถานการณ์ตอนนี้ไม่เรียบร้อยจึงไม่ควรรับร่างฯ จะได้ไม่เกิดการประท้วงอีก เป็นการเสียเวลาและงบประมาณในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นผลมาจากความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเกมการเมืองยืดเวลาในการบริหารบ้านเมืองออกไปอีก
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.30 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 15.11 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.23 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.77 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 9.95 มีอายุ ต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 19.19 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.82 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.79 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 12.45 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 1.80 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 93.66 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.76 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.63 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 1.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.02 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 71.10 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 3.60 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.27 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.25 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.32 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 26.08 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 4.78 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.74 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 14.41 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 12.69 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 22.40 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.88 ประกอบอาชีพ เกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 16.21 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 13.55 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 2.90 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.98 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.96 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 21.53 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 31.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 11.59 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 5.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.99 ไม่ระบุรายได้