กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ เตรียมรับมือภาวะฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยได้โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งหากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น สุรินทร์ ยโสธร นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว ภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ตรัง สตูล พัทลุง นราธิวาส และยะลา ทุกจังหวัดในภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องให้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกชุกหนาแน่นในระยะนี้ พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที
ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th