กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รุกเปิดโครงการปั้น "ผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่" จับมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แจกที่ดิน 3- 5 ไร่ ให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร ได้ไปประกอบอาชีพทางการเกษตร สร้างรายได้เลี้ยงตนเอง ครอบครัว และเป็นแบบอย่างให้แก่คนในชุมชนต่อไป สำหรับการฝึกอบรมจะใช้เวลา 6 เดือน และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้เข้าอบรมจะต้องมาอยู่ในพื้นที่แบบเกษตรพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยึดหลักของเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ของ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกระบวนการทางเกษตรกรรมครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูป และการจำหน่าย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรแล้วจำนวน 20 คน อย่างไรก็ดี โครงการศูนย์ปฏิบัติการเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จของ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่มุ่งพัฒนาวิจัยภายใต้แนวคิด "The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม"ตามกรอบของการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี ด้านเกษตร ด้านอาหาร และด้านพลังงานทางเลือก ตลอดจนกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสถาบันสู่การเป็น สถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ของภาคใต้ ในปี 2564สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2329-8111 และวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-7750-6410 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kmitl.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ด้วยปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก ภาคการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยมาอย่างยาวนาน หากมองในแง่ของการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางเกษตรอย่างหลากหลาย อาทิ การผลิตยางพาราเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยาง การผลิตปาล์มเพื่ออุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน การผลิตอ้อยสำหรับโรงงานน้ำตาล หรือแม้แต่การผลิตพืชผักผลไม้ แต่หากพิจารณาในแง่ของวิถีการดำเนินชีวิตจะพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาอย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ผลิตผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ หรือโดนกดราคา ปัญหาจากแมลงและศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งการแก้หรือรับมือกับปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อเกษตรกรมีองค์ความรู้ และเข้าใจใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดย สจล.ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงบุคลากรด้านการเกษตรของไทยในปัจจุบัน ที่มีกว่า 40% ของประชากรวัยแรงงาน หรือประมาณ 16 ล้านคนนั้น จะสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ หากได้รับการส่งเสริมความรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างจริงจังดังนั้น สจล. จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดหลักสูตรฝึกอบรมโครงการ "สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่" สำหรับประชาชนทั่วไป และหลักสูตร "ผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่" สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี เพื่อผลิตคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการเกษตรอย่างมีความรู้ความเข้าใจ สำหรับการฝึกอบรมจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้เข้าอบรมต้องมาอยู่ในพื้นที่แบบเกษตรพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยึดหลักของเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกระบวนการทางเกษตรกรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูปและการจำหน่าย ทั้งนี้ สำหรับผู้ผ่านการอบรมทั้งสองหลักสูตรจะได้รับแจกที่ดินจาก ส.ป.ก. คนละ 3- 5 ไร่ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้จากการปฏิบัติจริงไปประกอบอาชีพทางการเกษตร สร้างรายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว กลับไปเป็นผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นแบบอย่างให้แก่คนในชุมชนต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรแล้วจำนวน 20 คน นอกจากนี้ทางสถาบันก็ยังมีการเปิดตลาดชุมชนร่วมใจ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยตลาดชุมชนร่วมใจจะเป็นช่องทางในการส่งต่อสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคในทุกๆ วันเสาร์อย่างไรก็ดี โครงการศูนย์ปฏิบัติการเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จของ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงการงานวิจัยด้านการเกษตร ซึ่งสอดรับกับภูมิทัศน์ของภาคใต้อันเป็นที่ราบ ทิวเขาติดทะเล และมีการดำเนินอุตสาหกรรมอย่างหลากหลาย อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ และธุรกิจผลิต-แปรรูป นอกจากนี้ ภาคใต้ก็ยังเป็นแหล่งพลังงานหลายชนิด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับโด่งดังไปทั่วโลก ตลอดจนเป็นภูมิภาคที่จะมีความสำคัญอย่างมากเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนตอนใต้ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 70% ของประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ สถาบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคใต้ ที่ต้องมีการวางรากฐานในการพัฒนาให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ได้ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสถาบันสู่การเป็น สถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ของภาคใต้ ในปี 2564 โดยมุ่งวิจัยภายใต้แนวคิด "The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม" ตามกรอบของการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี ด้านเกษตร ด้านอาหาร และด้านพลังงานทางเลือก
สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2329-8111 และวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หมายเลขโทรศัพท์
0-7750-6410 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kmitl.ac.th