กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
โรงเรียนในเครือสารสาสน์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2507 โดยใช้ชื่อว่า สารสาสน์พิทยา ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล บุรุษผู้เป็นยอดครูหัวใจนักพัฒนาที่มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการทำงานสร้างคน สร้างสรรค์สังคม และช่วยเหลือคนดีที่ด้อยโอกาสอีกมากมาย
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนในเครือสารสาสน์ได้เจริญเติบโตเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านขยายสาขาไปทั่วประเทศแล้วถึง 37 แห่ง โดยมีจำนวน 24 แห่งที่เป็นโรงเรียนสองภาษา มีจำนวนนักเรียน 78,473 คน ครูไทย 5,279 คน และครูต่างชาติ 1,281 คน ซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงและถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่คณะผู้บริหารก็ยังไม่ยอมรับว่านี่คือการประสบความสำเร็จแล้ว เพราะการยอมรับเช่นนั้นจะทำให้หยุดพัฒนาตนเองไปโดยปริยาย
อาจารย์พิสุทธิ์ ยงค์กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กล่าวถึง จุดเริ่มต้นของการเปิดโรงเรียนสารสาสน์เอกตราให้เป็นโรงเรียนเอกชนสองภาษาแห่งแรกในประเทศไทยนั้น มาจากครอบครัวซึ่งทำงานเกี่ยวกับโรงเรียน ส่วนตนเองนั้นก็เป็นคนรักภาษา และเห็นความสำคัญประโยชน์ของภาษา ซึ่งเมื่อครั้งสมัยที่ไปเรียนที่เมืองนอก ต้องดิ้นรนในการสื่อสารเป็นอย่างมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยเรียนภาษากันนานแต่ไม่เก่งจริง หลังจากนั้นจึงได้คิดเริ่มต้นบุกเบิกการทำโรงเรียนสองภาษาที่เน้นการสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทยควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นที่ปรึกษาที่ดี คอยให้แนวคิดและองค์ความรู้ต่างๆ เป็นเหมือนการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
คุณพ่อได้ให้ข้อคิดกับลูกๆ ซึ่งเป็นครูทุกคน ว่าการเป็นครูจะต้องมีหัวใจดี หัวใจสูง มีความเป็น ยอดครู อาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำกุศลในตัวเอง เลี้ยงตัวเองและสร้างชาติได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่น เหมือนกับเกษตรกร แต่ต่างตรงที่ผลิตผลของครูเป็นมนุษย์ หากออกมาสวยมีค่าสง่างาม เราก็จะภูมิใจ เราเห็นเขาไปได้ดีก็เป็นรางวัลทางจิตใจเรา การพัฒนาสารสาสน์เอกตราจึงได้ใช้หลักคำสอนนี้ร่วมด้วย ทำให้โรงเรียนมีครูที่มีศักยภาพ ช่วยกันนำพานักเรียนให้ถึงฝั่งฝันความสำเร็จ ส่งผลให้โรงเรียนสารสาสน์เอกตรายืนตระหง่านอย่างเต็มภาคภูมิดั่งเช่นปัจจุบันนี้
อาจารย์พิสุทธิ์ ได้ปฏิบัติตามนโยบายในเครือสารสาสน์ไว้ชัดเจน คือ AGE QUOD AGIS เป็นคำลาติน คือทำอะไร ทำจริง นักการศึกษาที่ดีนั้นต้องเน้นสอนให้เด็กสามารถที่จะคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Thinking Skills) ในความเห็นของท่านเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของเด็กไทยในปัจจุบันคือเรื่องการพัฒนาภาษา เพราะจะเป็นเหมือนกุญแจไขห้องลับแห่งปัญญาต่างๆ เด็กไทยจะคอยอ่านแต่สิ่งที่คนอื่นแปลให้ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะจะทำให้ความรู้ไม่กว้างพอ บ้านเราไม่เหมือนญี่ปุ่นที่เขามีทุนเป็นศาสตร์แขนงต่างๆ ของเขาเอง และเขาสามารถหาหนังสือที่เป็นศาสตร์เหล่านั้นในภาษาของเขาเองได้มากมาย ในขณะที่ของบ้านเรานั้นมีน้อยมาก ความรู้บนแผงหนังสือก็มีจำกัดไม่หลากหลายและไม่เพียงพอที่จะแตกยอดความคิดได้ หากเด็กไทยรู้ภาษาอังกฤษดีก็จะสามารถศึกษาหาความรู้ศาสตร์แขนงต่างๆ ได้กว้างขึ้น
อีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องความจำ หากนักการศึกษาคนไหนบอกว่า การสอนเด็กให้เด็กท่องจำ นั้นผิด แสดงว่าคนๆ นั้นรู้ไม่จริง ทุกวันนี้หากเราจำหมายเลขบัตรประชาชน จำเบอร์โทรญาติเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ได้ ก็ลำบากแล้ว ดังนั้นความจำจึงสำคัญ จำให้ได้ ลอกเลียนแบบให้ได้ หลังจากนั้นจึงเอาไปประยุกต์ ดัดแปลง และพัฒนาให้ดีกว่า การจะจำให้ได้ดี สภาวะแวดล้อมที่จะให้จำก็สำคัญ เรียนอย่างไรให้จำ ก็มีหลายวิธี วิธีท่องจำไม่ได้เลวร้าย แต่ง่ายที่สุด เอาข้าวเข้าปากก็มีหลายวิธี จะใช้ช้อนหรือใช้มือก็ไม่มีวิธีใดผิด อย่าดูแต่ What to do, แต่ควรดูที่ how จะดีกว่า นอกจากด้านความจำแล้ว เด็กจะเก่งภาษาได้ต้องอยู่ในสภาพที่สมองต้องทำงานเพื่อความอยู่รอด อยู่ในสภาวะ survival mode การสื่อสารเพื่อ เอาตัวรอด จะสร้างความอดทนในการเรียนรู้และผลักดันให้เด็กเก่งภาษาได้เร็วขึ้น
อาจารย์พิสุทธิ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ต่อให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือสื่อการเรียนด้วยตนเองดีแค่ไหน แต่ถ้าทุกอย่างวางกองอยู่ตรงหน้าแล้ว ผู้เรียนไม่มีความอดทน ไม่สามารถบังคับตัวเอง ให้เรียนได้ ก็คงได้แค่นั้น และจะแย่ไปกว่านี้หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่สอนให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ เด็กสมัยนี้จึงเรียกร้องมากอยากได้โน่น อยากได้นี่ แต่ไม่ทำงาน ไม่อดทน ผู้ปกครองควรอ่านหนังสือพ่อแม่รังแกฉัน จะเข้าใจในเรื่องนี้ ครูเอง โรงเรียนเอง ก็ต้องพัฒนา ต้องทบทวนตัวเองในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระบบการสร้างคนจึงจะก้าวหน้า สังคมในยุคนี้เป็นยุคดิจิตอลและสุขนิยมผนวกกันกับสังคมไทยก้าวเร็วเกินไปและหยาบเกินไป ทำให้เด็กไทยขาดสิ่งสำคัญไปสิ่งหนึ่งนั่นคือ ความอดทนอดกลั้น ซึ่งสำคัญมากต่อการเรียนรู้"